Michael Corrente | USA | 2012 March 27, 2012 ไม่มีอะไรให้จดจำ เราเพียงงานยุ่งมากมายในช่วงนี้ กลับถึงบ้านแต่ละวันก็เพียงแค่อยากดูหนังสัก...

Loosies

Michael Corrente | USA | 2012


March 27, 2012

ไม่มีอะไรให้จดจำ เราเพียงงานยุ่งมากมายในช่วงนี้ กลับถึงบ้านแต่ละวันก็เพียงแค่อยากดูหนังสักเรื่องก่อนนอน เอาแบบที่นอนดูและสามารถหลับไปได้โดยไม่นึกเสียดายหรืออาจต้องมาเปิดย้อนดูซ้ำในวันรุ่งขึ้น วันนี้ก็แค่เห็นหน้าปกรูปเฮียไมเคิล แมดสัน เราเคยชอบแกมากๆ ในหนังหลายเรื่องหลายปีก่อนหน้านี้ และไม่ได้ดูหนังแกนานแล้ว ก็แค่นั้นเอง

0 comments:

Giddens Ko | Taiwan | 2011 March 25, 2012 หนังที่ทำเงินถล่มทลายมากมายมหาศาลทั้งในไต้หวันและที่ฮ่องกง เรื่องราวที่อวลไปด้วยบรรยากาศไหนไห...

You Are the Apple of My Eye

Giddens Ko | Taiwan | 2011


March 25, 2012

หนังที่ทำเงินถล่มทลายมากมายมหาศาลทั้งในไต้หวันและที่ฮ่องกง เรื่องราวที่อวลไปด้วยบรรยากาศไหนไห้รำลึกถึงอดีต ท่วงทำนองอย่างที่มังงะญี่ปุ่นจำนวนหนึ่งทำได้ดีและไม่มีอะไรเทียบทัน อะไรทำนองนี้ต้องยกให้ pop culture ฟากเอเชียตะวันออกที่สามารถทำได้ดีแบบที่โดนใจพวกเรา แน่นอนล่ะว่าเราก็ชอบหนังเรื่องนี้ แม้ว่าชีวิตมัธยม เด็กหนุ่มห่ามๆ รักแรก ความผิดพลาด หยาดน้ำตา อดีตที่ไม่หวนคืน ฯลฯ จะเป็นอะไรที่ถูกเล่าซ้ำใน pop culture (โดยเฉพาะจากญี่ปุ่นที่คุ้นเคยกันมานานนม) กันมามากต่อมากแล้วก็ตาม

การหวนไห้ถึงอดีตในเรื่องนี้ขยับมาถึงทศวรรษ 1990 แล้วสิ ในช่วงระยะไม่นานนี้เราเห็นการหวนกลับไปรำลึกให้ค่าทศวรรษ 1980 ในหนังหลายเรื่อง แม้กระทั่งในหนังซีเรียสอย่าง The Wrestler (ฉากหนึ่งที่เราชอบมากๆ จากหนังเรื่องนี้คือตอนที่มิกกี้ รูร์กดิสเครดิตเคิร์ต โคเบน!) แป๊บเดียวก็มาถึงการหวนคิดถึงทศวรรษต่อมาแล้วหรือเนี่ย เวลาผ่านไปเร็วพร้อมๆ กับที่ภาวะหวนอดีตใน pop culture อึงอวลเห็นบ่อยครั้งเสียเหลือเกิน ลึกลงไปคงต้องตั้งคำถามว่าเกิดอะไรขึ้นกับปัจจุบัน

0 comments:

Gavin Wiesen | USA | 2011 March 24, 2012 น่ารักดี เนื้อเรื่องและประเด็นก็ไม่มีอะไรมาก ประมาณว่าเด็กหนุ่มขวางโลกที่ริรักเพื่อนสาว อกหัก ...

The Art of Getting By

Gavin Wiesen | USA | 2011


March 24, 2012

น่ารักดี เนื้อเรื่องและประเด็นก็ไม่มีอะไรมาก ประมาณว่าเด็กหนุ่มขวางโลกที่ริรักเพื่อนสาว อกหัก และรักดีหันมาเรียนให้จบ แล้วเธอคนนั้นก็กลับมา

อย่างไรก็ดี มีช่วงตอนที่เราชอบใจ คือเจ้าหนุ่มชวนสาวเจ้าไปดู Zazie dans le Métro ของหลุยส์ มาลล์ ไม่มีอะไรมากหรอก เราก็แค่ชอบหนังยียวนกวนใจเรื่องนั้นมากเท่านั้นเอง

0 comments:

Oliver Stone | USA | 2010 March 21, 2012 ไม่มีอะไรให้น่าจดจำ และไม่ได้คาดหวังอะไรมากมายมาตั้งแต่ต้น แค่อยากลองเปิดดูเพราะกำลังคิดอยากจะ...

Wall Street: Money Never Sleeps

Oliver Stone | USA | 2010


March 21, 2012

ไม่มีอะไรให้น่าจดจำ และไม่ได้คาดหวังอะไรมากมายมาตั้งแต่ต้น แค่อยากลองเปิดดูเพราะกำลังคิดอยากจะเล่นหุ้น!

0 comments:

Mibu gishi den (original title) | Yojiro Takita | Japan | 2003 March 20, 2012 เราเริ่มหลงใหลหนังญี่ปุ่นไม่ใช่เพราะปรมาจารย์อย่างโอสุ, ค...

When the Last Sword is Drawn

Mibu gishi den (original title) | Yojiro Takita | Japan | 2003


March 20, 2012

เราเริ่มหลงใหลหนังญี่ปุ่นไม่ใช่เพราะปรมาจารย์อย่างโอสุ, คุโรซาวะ, มิโซกุชิ, นารุเสะ, อิชิกาว่า, โคบายาชิ หรือโกชา (และแน่นอนว่าย่อมไม่ใช่เพราะเซจุน ซุซูกิ และทาเคชิ มิอิเกะ) แต่เพราะคุณปู่โยจิ ยามาดะเป็นสำคัญ

เราดู The Yellow Handkerchief - หนังที่เรารักมากที่สุดเรื่องหนึ่ง - ทางทีวี และอีกหลายเรื่องของคุณปู่จากการจัดฉายโดยสถานทูตญี่ปุ่น รวมถึงโทร่าซัง และเมื่อราวจะสิบปีก่อนที่โรงภาพยนตร์ลิโด (น่าจะใช่นะ) คือเรื่อง The Twilight Samurai หนังเรื่องนี้ได้กลายเป็นหนังที่เรารักเป็นอย่างมาก ทั้งชื่นชมที่คุณปู่ยามาดะยังคงทำหนังไปตามสไตล์ของแก ไม่ต้องพลิกแพลง ไม่ต้องแอ็ค เพียงแต่เล่าเรื่องมันไปให้จบอย่างธรรมดาที่สุด หากแต่ภายใต้ความธรรมดานั้นคือสายตามองโลกอย่างเข้าใจ เรายิ่งเห็นความเยี่ยมยอดของ The Twilight Samurai เมื่อเปรียบเทียบกับ The Last Samurai ที่เฮียทอม ครูซแสดงและออกฉายไล่เลี่ยกัน มันว่าด้วยเรื่องราวแห่งการสิ้นสุดลงของยุคซามูไรเหมือนกัน แต่ด้วยการตีความและการแสดงให้เห็นถึงการเข้าใจชีวิตมนุษย์ที่ต่างและห่างชั้นกันเยอะ

เราเพิ่งเห็นว่า When the Last Sword is Drawn เรื่องนี้ก็เข้าฉายในช่วงเวลาไล่เลี่ยกับหนังสองเรื่องนั้นเช่นกัน และว่าด้วยประเด็นที่ไม่ต่างกันเลย (เกิดอะไรขึ้นในช่วงนั้นกันนะ?) โยจิโร ทาคิตะ ผู้กำกับ The Last Sword ปัจจุบันนี้โด่งดังเป็นอย่างมากแล้วจาก Departures ซึ่งไปได้รางวัลออสการ์หนังต่างประเทศยอดเยี่ยมเมื่อสามปีที่แล้ว เรายังไม่ได้ดู Departures แต่สำหรับ The Last Sword เราไม่ค่อยชอบสักเท่าไหร่เลย ตัวละครหลักของเรื่องเป็นซามูไรยากไร้เหมือนเซอิเบใน The Last Samurai ยอมให้คนอื่นดูถูกเพื่อให้ครอบครัวมีกิน นั่นก็เหมือนกัน แต่ในที่สุด ที่เหนือกว่าสิ่งอื่นใดคือการจรรโลงไว้ซึ่งจิตวิญญาณแห่งซามูไรที่หนังนำเสนอในช่วงท้ายๆ เรื่องอย่างยืดยาวแสนน่าเบื่อ หนังญี่ปุ่นจำนวนหนึ่งมักมีอะไรทำนองนี้ การพร่ำเพ้อยาวนานให้เร้าอารมณ์กันให้ถึงที่สุด แต่หลายครั้งมันล้มเหลวและทำให้เกิดความรู้สึกในแง่ลบแก่เรา แต่เอาล่ะ อย่างน้อยมันก็มีส่วนดีอยู่บ้าง ตรงที่ทำให้เรานึกถึงคุณปู่ยามาดะและหนังหลายเรื่องของแกขึ้นมาครามครัน

0 comments:

Aki Kaurismäki | Finland et al. | 2011 March 18, 2012 แน่นอนว่าคงจะเป็นหนึ่งในหนังที่เรารักมากที่สุดแห่งปี และคอริสมากิก็คงจะยังครองตำแ...

Le Havre

Aki Kaurismäki | Finland et al. | 2011


March 18, 2012

แน่นอนว่าคงจะเป็นหนึ่งในหนังที่เรารักมากที่สุดแห่งปี และคอริสมากิก็คงจะยังครองตำแหน่งหนึ่งในผู้กำกับฯ ที่มีชีวิตอยู่ที่เรารักมากที่สุดเช่นกัน เราห่างหายจากหนังของเขาไปพักใหญ่ Le Havre นำเอาความรู้สึกดีๆ ต่อหนังของเขากลับมาอีกครั้ง จนทำให้เราอยากรื้อเอาเรื่องที่เคยดูมาดูอีกรอบ และเสาะหางานยุคต้นของเขามาดูให้ได้

ท่วงทำนองและลีลาเดิมๆ ยังคงอยู่ ความทุกข์ยาก ขันขื่น ผู้คนเล็กๆ ยากไร้แต่จิตใจงดงาม ตลกร้ายแสบสันต์ และแน่นอนว่าต้องรวมถึง Kati Outinen ผู้ซึ่งหนังเรื่องนี้คือคำยืนยันว่าเธอควรขึ้นครองตำแหน่งราชินีของวงการภาพยนตร์โลกเสียที ประเทศไทยที่แสนจะอับจนสิ้นหวังแห่งนี้เคยทำสิ่งดีไว้อย่างหนึ่งในประวัติศาสตร์ คือการเคยให้รางวัลเธอเมื่อเกือบสิบปีที่แล้ว

ฉากจบของภาพยนตร์เรื่องนี้ทำเราร้องไห้ยาวนาน เพราะมันอวลด้วยความรักอันเอ่อท้น และการบรรจบกันของทั้งความหวังและความเศร้า การได้มาและการสูญเสีย เราอยากอยู่ในอ้อมกอดใครสักคนและบอกเขาว่าเราสองคนจะอยู่ด้วยกันให้นานที่สุด

0 comments:

Stephen Daldry | USA | 2011 March 17, 2012 หนังที่ก่อให้เกิดปฏิกิริยาค่อนข้างก้ำกึ่งระหว่างชื่นชอบกับชิงชัง เราติดอยู่ในกลุ่มแรก มากกว่...

Extremely Loud & Incredibly Close

Stephen Daldry | USA | 2011


March 17, 2012

หนังที่ก่อให้เกิดปฏิกิริยาค่อนข้างก้ำกึ่งระหว่างชื่นชอบกับชิงชัง เราติดอยู่ในกลุ่มแรก มากกว่านั้นคือมันอาจจะเป็นหนังที่ว่าด้วยผลพวงของเหตุการณ์ 9/11 ที่เราชอบมากที่สุด (แต่กระนั้นก็ยังนึกชื่อออกไม่ทั้งหมดในตอนนี้นะ)

เราค่อนข้างจะเห็นด้วยอยู่บ้างหากมีการวิจารณ์ว่าหนังจงใจที่จะบีบคั้นให้คนดูต้องน้ำตาซึม นั่นก็เพราะมีบางช่วงตอนที่เราน้ำตาซึม อาจจะเกินพอดีในการขับเน้นภาวะสับสนปั่นป่วนของเจ้าหนูออสการ์และการคลี่คลายเรื่องที่แสนจะง่ายดายเหลือเกิน แต่ต้องยอมรับฝีมือของสตีเฟน ดัลดรีที่กล้าจะเล่นในหลายๆ ช่วง ตอนที่สุ่มเสี่ยงอย่างมากคือฉากเจ้าหนูเปิดเผยความลับให้คุณปู่ผู้ไม่พูด การพล่ามระเบิดอารมณ์อันสับสน (เรานึกถึงฉากเอ็ดเวิร์ด นอร์สันพูดกับตัวเองในกระจกในเรื่อง 25th Hour ของสไปค์ ลี) ยืดยาวถาโถมมากพอจนทำให้เราค่อยๆ สงสัยตัวเองว่ามันจะนำไปสู่อารมณ์ใด จนท้ายที่สุดก็พบว่าตัวเองตื่นตระหนก นั่นแหละเป็นกรณีหนึ่งที่พาเราไปอยู่ฝั่งที่ชื่นชมหนังเรื่องนี้

0 comments:

Steven Spielberg | USA | 2011 March 15, 2012 สปีลเบิร์กยังคงเห่ยได้สม่ำเสมอสำหรับเรา เรารู้ตัวเองดีว่าเป็นคนที่ดูหนังเพื่อความบันเทิงล้...

War Horse

Steven Spielberg | USA | 2011


March 15, 2012

สปีลเบิร์กยังคงเห่ยได้สม่ำเสมอสำหรับเรา เรารู้ตัวเองดีว่าเป็นคนที่ดูหนังเพื่อความบันเทิงล้วนๆ ก็หวังว่าหนังเรื่องนี้จะสร้างความบันเทิงใจให้สักหน่อย แต่กลายเป็นว่ามันช่างน่าเบื่อเป็นอย่างมากเสียจริง ทั้งน่าเบื่อและน่ารำคาญ เราว่าอาจเป็นเพราะเราเอียนกับการเทศนาโชว์เหนือด้วยคำพูดหรูๆ เต็มเปี่ยมด้วยอัจฉริยภาพและการรู้จักโลก เหล่านี้ที่แพร่กระจายอยู่ในสังคมไทยตอนนี้กระมัง ตัวละครทั้งหลายแหล่ในหนังเรื่องนี้ที่แต่ละคำพูดล้วนแสดงให้เห็นว่าเป็นผู้เจนจัดในการเรียนรู้ความหมายของชีวิต มีแต่จะทำให้เราเบือนหน้าหนี ใครสามารถทนคำพูดของเอมิลี วัตสันที่เหมือนอ่านคาลิล ยิบรานแทนที่จะทำงานบ้านและงานหนักหน่วงในไร่นั้นได้บ้างนะ?

0 comments:

Luftslottet som sprängdes (original title) | Daniel Alfredson | Sweden et al., 2009) March 11, 2012 จบเสียที มิกาเอล บลอมก์วิสท์ขยับมาเป...

The Girl Who Kicked the Hornet's Nest

Luftslottet som sprängdes (original title) | Daniel Alfredson | Sweden et al., 2009)


March 11, 2012

จบเสียที มิกาเอล บลอมก์วิสท์ขยับมาเป็นตัวเดินเรื่องสำคัญ เมื่อต้องดำเนินการสืบสวนและไขปริศนาต่างๆ ขณะที่ซาแลนเดอร์ถูกจองจำและกำลังขึ้นสู่การพิพากษาของศาล รายละเอียดและตัวละครมันเยอะจนจำแทบไม่หมด แต่ดูเหมือนว่าหนังจะจัดการได้ดีพอสมควร ไม่ถึงขนาดต้องแทงเก๋ทำให้เท่ห์คลุมเครือแบบหนังสายลับฮอลลีวู้ดยุคหลังๆ เดี๋ยวรอดูเวอร์ชั่นฮอลลีวู้ดเถอะ จะต้องตัดฉึบฉับจนงงแหลกกันแหละ

อย่างไรก็ตาม ไม่ได้ติดใจอะไรกับหนังชุดนี้มากมาย อย่างที่ว่า เสียดายที่ไม่ได้ลุยอ่านนิยายให้จบ

0 comments:

Flickan som lekte med elden (original title) | Daniel Alfredson | Sweden et al., 2009) March 11, 2012 กลับมาที่เวอร์ชั่นยุโรป เราเลือกท...

The Girl Who Played with Fire

Flickan som lekte med elden (original title) | Daniel Alfredson | Sweden et al., 2009)


March 11, 2012

กลับมาที่เวอร์ชั่นยุโรป เราเลือกที่จะรอและดูเวอร์ชั่น Extended ที่ยาวร่วมสามชั่วโมง คงเพราะความเร้าใจที่มีมาตั้งแต่นวนิยายแล้วที่ทำให้เรื่องชวนติดตาม ภาคนี้ (และรวมถึงภาคต่อไป) ได้กลายเป็นเรื่องราว Conspiracy ไปเสียแล้ว ตระกูลแวงเกอร์เมื่อตอนภาคหนึ่งก็หายไปจนคล้ายเป็นนิยายคนละเรื่อง บางเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเมื่อภาคหนึ่งผูกโยงมาถึงภาคนี้ ชอบที่ตัวละครเอกทั้งสองไม่เจอกันเลยตลอดทั้งเรื่องจนมาถึงซีเควนซ์สุดท้าย ก็ดี ชวนให้ติดตามต่อไปจนถึงตอนจบ

0 comments:

David Fincher | USA et al. | 2011 March 10, 2012 ดูเวอร์ชั่นยุโรปเมื่อปีที่แล้ว ก็สนุกดีแต่ก็ไม่ได้เป็นที่ต้องจดจำอะไรมาก ก็เลยไม่ได้ดู...

The Girl with the Dragon Tattoo

David Fincher | USA et al. | 2011


March 10, 2012

ดูเวอร์ชั่นยุโรปเมื่อปีที่แล้ว ก็สนุกดีแต่ก็ไม่ได้เป็นที่ต้องจดจำอะไรมาก ก็เลยไม่ได้ดูภาคสองและภาคสามต่อ วันนี้ได้ฉบับฮอลลีวู้ดมา ว่างๆ เพลียๆ เลยขอดูสักหน่อยละกันเพราะได้ยินเสียงยกย่องมาอยู่พอสมควร และวางแผนว่าจะดูภาคต่อของเวอร์ชั่นยุโรปต่อไปเลย

เวอร์ชั่นอเมริกันก็สนุกดีพอควรเช่นกัน และก็อย่างการรีเมกใหม่ทั่วไปให้เป็นอเมริกัน อะไรบางอย่างถูกเพิ่มเข้ามาให้ผู้ชมสะสามากขึ้น พระเอกหล่อขึ้น หนุ่มขึ้น มีแง่มุมความรัก-แอบพึงใจระหว่างสองตัวละครเอกเพิ่มเติม และซาแลนเดอร์ในเวอร์ชั่นนี้จึงดูเป็น "ผู้หญิง" มากขึ้น

เราเสียดายอยู่เหมือนกันที่ตัวเองอ่านนิยายเรื่องนี้ไม่จบ เพื่อนคนหนึ่งแนะนำกึ่งบังคับให้ซื้อมาอ่านตั้งแต่ตอนก่อนจะมีการสร้างเป็นหนัง เราซื้ออ่านระหว่างการเดินทางไปต่างประเทศหนหนึ่ง ต้องยอมรับว่าอ่านสนุก ติดหนึบ และมีรสชาติแปลกแปร่ง โดยเฉพาะต่อเสน่ห์ของซาแลนเดอร์ พอจบการเดินทางและกลับมาเมืองไทย งานกองพะเนินที่รออยู่ทำให้เราต้องวางนิยายแกร่วไว้อย่างช่วยไม่ได้ พยายามกลับมาอ่านต่ออีกสองสามครั้งแต่ก็ได้แค่นิดๆ หน่อยๆ แม้ว่าจะอ่านไม่จบแต่ก็รู้สึกเช่นเดียวกับนิยายที่ดัดแปลงเป็นหนังหลายต่อหลายเรื่อง อะไรบางอย่างในนวนิยายก่อให้เกิดเสน่ห์จากความคลุมเครือต้องจินตนาการ หายไปเมื่อกลายเป็นภาพยนตร์

0 comments:

Komissar (original title) | Aleksandr Askoldov | Soviet Union | 1967 (released in 1988) March 6, 2012 คุณพระช่วย! ผ่านไปหนึ่งวันเต็ม หล...

The Commissar

Komissar (original title) | Aleksandr Askoldov | Soviet Union | 1967 (released in 1988)


March 6, 2012

คุณพระช่วย! ผ่านไปหนึ่งวันเต็ม หลายภาพหลายตอนจากหนังเรื่องนี้ยังคงติดตา เรื่องราวยังคงทำให้เราเก็บคิดซ้ำแล้วซ้ำเล่า และคงไม่แคล้วเป็นหนึ่งในหนังที่เราจดจำอยากเอ่ยถึงซ้ำแล้วซ้ำเล่า

เราซื้อแผ่นหนังเรื่องนี้มาจากประเทศสังคมนิยมประเทศหนึ่งเมื่อราวสองปีที่ผ่านมา เก็บดองไว้นาน มาถึงวันนี้ที่ดูจบ แล้วให้นึกว่าตลกดีที่เราหาซื้อมันมาจากที่นั่น หนังเรื่องนี้สร้างเมื่อปี 1967 แต่ด้วยเนื้อหาที่หาได้เชิดชูวีรบุรุษและพรรคฯ หน่วยงานเซ็นเซอร์ของโซเวียตตัดสินให้ทำลายภาพยนตร์ ผู้กำกับถูกสั่งห้ามเกี่ยวข้องกับภาพยนตร์อีกต่อไป โชคดีที่ฟิล์มยังเหลือรอด แม้ว่าที่เก็บของมันจะเป็นที่คลังของเคจีบีก็ตาม ราว 20 ปีต่อมา เมื่อสถานการณ์ทางการเมืองเริ่มเปลี่ยน มีการเริ่มเปิดประเทศ และค่ายคอมมิวนิสต์ดูเหมือนว่ากำลังจะล่มสลาย ผู้กำกับได้ทำการอุทธรณ์ขอฟิล์มคืนและได้รับการอนุมัติ มีการบูรณะ ปรับปรุง และมิกซ์เสียงใหม่ โลกจึงได้สัมผัสภาพยนตร์ที่เราคิดว่าดีเยี่ยมที่สุดเรื่องหนึ่ง เราได้มันมาอย่างงงๆ จากประเทศสังคมนิยมที่เริ่มก้าวไปสู่การเป็นมหาอำนาจใหม่ตามมาตรฐานของทุนนิยมหลังการเปิดประเทศกว่าสองทศวรรษเช่นเดียวกัน

เรื่องราวว่าด้วยหญิงสาววัยเกือบกลางคนผู้ถือตำแหน่งระดับหัวหน้าหน่วยของกองกำลังหนึ่งของ "ฝ่ายแดง" ในช่วงสงครามกลางเมืองของรัสเซีย เธอพบว่าตัวเองได้ตั้งครรภ์อย่างไม่ตั้งใจและมันสายเกินกว่าที่จะทำแท้งเอาเด็กออก หัวหน้าตัดสินใจให้เธอแยกออกจากหน่วย และบังคับฝากฝังเธอไว้กับครอบครัวชาวยิวที่หัวหน้าครอบครัวเคยเป็นหนึ่งในสมาชิกพรรคฯ แต่ก็เช่นเดียวกับตัวละครบางตัวที่เราเห็นในเรื่อง (และอาจจำนวนมากในโลกแห่งความเป็นจริง) ที่เลือกจะละทิ้งพรรคฯ และอุดมการณ์เพื่อใช้ชีวิตกับคนรักหรือครอบครัวที่ตนต้องคอยดูแลพิทักษ์รักษา ในช่วงเวลาที่การสัประยุทธ์ของแต่ละฝ่ายลงเอยที่การล่มสลายของคนธรรมดา

เริ่มต้นด้วยความกระด้างเย็นชาและแยกตัว Vavilova ให้กำเนิดบุตรและค่อยๆ กลายเข้าเป็นส่วนหนึ่งของครอบครัวชาวยิวที่ตนไปอาศัยด้วย เผยสัญชาติญาณแห่งความเป็นแม่และโลกของครอบครัวอันห่างไกลจากสงคราม แต่แล้ววันหนึ่งสงครามก็หวนกลับคืนมาสู่ตัวเธอและครอบครัวใหม่ สหาย "ฝ่ายแดง" มาเยือน เริ่มจากการกวดไล่ กระสุน และลงเอยที่การชักชวนเธอกลับร่วมรบ เธอเริ่มต้นด้วยหวาดผวา ก่อนจะกลับมาสู่ความกร้าวด้านเช่นอดีต แต่ครานี้ด้วยเป้าหมายในการปกป้องลูกน้อย สหายจากไป ทุกคนรู้ดีว่าอีกไม่กี่วันอีกฝ่ายจะมาถึงและนั่นจะเป็นโศกนาฏกรรมสำหรับทุกคน ครอบครัวชาวยิวเต้นรำให้กับชะตากรรมของตน เธอให้ความหวังกับพวกเค้าว่าวันหนึ่งวันนั้นที่ชนชั้นกรรมาชีพที่ถูกกดขี่รวมพลังกัน ชัยชนะจะเป็นของพวกเรา แต่เกิดนิมิตแก่เธอว่าชะตากรรมของชาวยิวจะลงเอยเช่นไรต่อไป เธอเลือกที่จะทิ้งลูกไว้กับครอบครัวนั้น และหวนคืนสู่สงคราม

นอกเหนือจากเรื่องราวที่เล่าขานถึงชะตากรรมของมนุษย์อย่างถึงแก่น ภาพยนตร์เต็มเปี่ยมด้วยฉากและภาพที่ทรงพลังไม่อาจลืมลง หลายซีเควนซ์กรุ่นด้วยภาพฝันและความเหนือจริง ซึ่งล้วนสะท้อนให้เห็นวิสัยทัศน์และอัจฉริยภาพของทั้งผู้กำกับ ตากล้อง และผู้ทำดนตรีประกอบ แต่ละช่วงตอนเหล่านั้นแทบทำให้ลืมหายใจ - ท่ามกลางความน่าตื่นใจและมีประสิทธิภาพเหล่านั้น ยากที่จะลืมภาพฝัน-ทรงจำในซีเควนซ์ให้กำเนิดบุตร ฝูงม้าศึกที่ห้อตะบึง ฉากวิวาห์ที่เต็มไปด้วยมายา การจำลองสงครามในการละเล่นที่เหี้ยมเกรียมของเด็กๆ การเต้นรำเยาะเย้ยชะตากรรม ค่ำคืนกล่อมลูกและโศลกของชีวิตที่ผุพัง กระทั่งถึงฉากจบเรื่องที่ตรึงตา

เรานึกถึง ดอกเตอร์ชิวาโก ของปาสเตอร์เน็กอยู่บ้างบางครั้งขณะดูหนังเรื่องนี้ มันว่าด้วยประเด็นที่ใกล้เคียงกัน และทั้งชะตากรรมของหนังสือและหนังเรื่องนี้ก็คล้ายคลึงกัน หลายครั้งหลายหนที่กล้องจงใจเน้นจับเทียนไขที่โลมไล้แสงทาบทอบนหน้าต่าง เราพยายามหาบทกวี "ชิ้นนั้น" ของ "ดอกเตอร์ชิวาโก" แต่หนังสือไม่รู้ไปอยู่ที่ไหนเสียแล้ว นวนิยายเล่มนั้นเป็นหนังสือในดวงใจ และหนังเรื่องนี้คงเข้าเป็นหนึ่งในดวงใจได้ไม่ยากเย็น

0 comments:

Alexander Payne | USA | 2011 March 5, 2012 หนังเพื่อความสุขและความบันเทิง สนุก อบอุ่น จอร์จ คลูนี่ย์ยังคงดูดีอยู่เสมอ เด็กๆ น่ารักพองาม...

The Descendants

Alexander Payne | USA | 2011


March 5, 2012

หนังเพื่อความสุขและความบันเทิง สนุก อบอุ่น จอร์จ คลูนี่ย์ยังคงดูดีอยู่เสมอ เด็กๆ น่ารักพองาม สองปมเดินขนานกันในเรื่อง ระหว่าง 1) การหาความจริงเรื่องชู้รักของภรรยาผู้ซึ่งประสบอุบัติเหตุกำลังรอความตาย พร้อมๆ กับการที่สมาชิกในครอบครัวค้นหาความรู้สึกของตนเองต่อภรรยาและแม่ กับ 2) การจะขายหรือเก็บรักษาที่ดินผืนงามของบรรพบุรุษ

สองประเด็นเกี่ยวโยงกัน ส่งต่อการเปรียบเปรยและสัญลักษณ์เทียบเคียงระหว่างกัน แต่เป้าหมายสูงสุดคือตอบคำถามต่อประเด็นปัญหาที่หนังอเมริกันเป็นร้อยๆ เรื่องในระยะร่วมสมัยของเรานี้มุ่งสู่ คือ ประเด็นปัญหาเรื่องครอบครัว

ก็นั่นแหละ มันว่าด้วยเรื่องเดิมๆ ปมประจำ หนทางของตัวละคร การคลี่คลายเรื่อง และตอนจบที่พอเดาได้ไม่ยาก ความอบอุ่นและลากพาไปสู่การชวนประทับใจจะทำให้จดจำได้ยาวนานเท่าใดกัน?

0 comments:

Stazione Termini (original title) | Vittorio De Sica | Italy, USA | 1953 March 1, 2012 เมื่อเห็นชื่อทรูแมน คาโพตีมีส่วนร่วมในหนังเรื่อง...

Terminal Station

Stazione Termini (original title) | Vittorio De Sica | Italy, USA | 1953


March 1, 2012

เมื่อเห็นชื่อทรูแมน คาโพตีมีส่วนร่วมในหนังเรื่องนี้ (ในฐานะคนเขียนไดอาล็อกของตัวละคร) เราดูมันอย่างเคร่งเครียดมากขึ้น แต่ก็ไม่ถึงกับขนาดเพ่งพินิจเอาเป็นเอาตายหรอกนะ ไม่ใช่นิสัยและเรามักทำอย่างนั้นได้ไม่นาน พอจะสังเกตเห็นว่าหนังไม่ได้ปล่อยเรื่อยแบบเรียลไทม์เพียงเฉยๆ สองตัวละครเอกใช้เวลาชั่วโมงกว่าในชานชาลาสถานีรถไฟแห่งกรุงโรม ช่วงเวลาแห่งการคร่าวรอขบวนรถไฟของเธอ ทั้งสองซึ่งเพิ่งตกหลุมรักกันไม่นานพยายามตัดสินใจและหาทางออกว่าเธอจะจากไปและหวนคืนสู่ครอบครัวซึ่งสามีกับลูกสาวกำลังเฝ้ารอ หรือเธอจะตัดสินใจอยู่เพื่อความรักแท้ที่เพิ่งก่อตัว หลายต่อหลายครั้งที่หนังจงใจให้เห็นว่ากำลังขับเน้นความหวามไหวให้กลายเป็นประเด็นทางศีลธรรมที่หนักหน่วงซ่อนอยู่เบื้องหลัง แม้เธอจะเป็นอเมริกัน แต่เขาก็หาได้เป็นคนท้องถิ่นทั้งร้อยเปอร์เซ็นต์ ฉากหลังฉากเดียวของเรื่องที่เป็นสถานีรถไฟจึงคล้ายเป็นสถานที่แห่งการผจญภัยไปในดินแดนแปลกหน้า ชายหนุ่มหญิงสาวภายใต้สายตาของเหล่าเทพเจ้ารูปประดับในอาคาร และการถูกกล่าวหาในกรณีอันเกี่ยวพันกับศีลธรรมทางเพศ หนังพอจะมีอะไรไม่น้อยให้คุยต่อ

รู้มาว่านี่เป็นหนึ่งในหนังที่เป็นเรื่องเป็นราวใหญ่โตอยู่ไม่น้อย เดอ สิกาผู้โด่งดังได้ถูกดึงตัวมาสู่ฮอลลีวู้ด หนังเรื่องนี้เสร็จสิ้นแต่ไม่เป็นที่พอใจนักของโปรดิวเซอร์ชาวอเมริกันผู้โด่งดัง-เดวิด เซลซ์นิค มันจึงนำมาสู่การตัดต่อใหม่โดยไม่ได้ปรึกษาผู้กำกับฯ กลายเป็นสองเวอร์ชั่นที่ดูเหมือนว่าจะไม่ได้เสียงตอบรับที่ดีสักเท่าไหร่ ในแผ่นที่เราได้มามีทั้งสองเวอร์ชั่น แต่เลือกที่จะดูเวอร์ชั่นของเดอ สิกาก่อน ซึ่งก็พบว่ามันไม่ได้เลวร้ายอะไรเลย ออกจะเป็นหนังที่ดีเสียด้วยซ้ำ โรแมนติกและหวามไหวใจเหลือเกิน อ่ะ อย่างน้อยมอนต์โกเมอรี่ คลิฟท์ก็ยืนยันกับเราว่าพระเอกหนังเดี๋ยวนี้ไม่สามารถทำให้ใจหลอมละลายได้เลย

อีกประเด็นที่ฉุกใจ แม้ว่าหนังเรื่องนี้จะห่างออกมาหน่อย แต่เราเห็นหนังหลังสงครามอีกเรื่องหนึ่งแล้วที่ว่าด้วยการต้องเลือกของหญิงสาวระหว่างความรักที่เพิ่งก่อเกิดอย่างรุนแรงและครอบครัว ที่ขึ้นทำเนียบคลาสสิคและเราได้ดูแล้ว คือเรื่อง Brief Encounter (1945) และหนังที่สุดในดวงใจของเรา - Spring in a Small Town (1948) มันคงจะมีเรื่องอื่นอีกแหละที่ว่าด้วยเรื่องราวทำนองนี้ แต่สามเรื่องนี้เท่าที่เราได้ดู ผู้หญิงเลือกครอบครัวหมดเลยอ่ะ น่าคิดนะว่าความเชื่อใดที่ทำให้บทหนังเลือกที่จะให้หญิงสาวยอมไม่เลือกผู้ชายอย่างมอนตี้ มันค่อนข้างเหลือเชื่อเกินไปล่ะมั้งคุณพี่!

0 comments: