ทรงยศ สุขมากอนันต์ | 2554 [2011] January 30, 2012 หนังดีกว่าที่คิดไว้ไม่น้อยเลย
ท็อปซีเคร็ต วัยรุ่นพันล้าน | Top Secret
BEFF's program: Thai Experimenta History One Chulayarnnon (จุฬญาณนนท์) | จุฬญาณนนท์ ศิริผล | 2008 | 5:00 Nang Sod (หนังสด) | โดม ส...
A Mass of Light
- Chulayarnnon (จุฬญาณนนท์) | จุฬญาณนนท์ ศิริผล | 2008 | 5:00
- Nang Sod (หนังสด) | โดม สุขวงศ์ | 1985 | 2:09
- Madang Bo sai (หมาแดงบ่ไซ) | ไพสิฐ พันธุ์พฤษชาติ | 1999 | 24:00
- Boring Blinker | สุรพงษ์ พินิจค้า | 1985 | 2:40
- Once Upon a Time (กาลครั้งหนึ่ง) | ภาณุ อารี | 2000 | 14:00
- Loneliness is Everywhere (เดียวดายทุกแห่งหน) | วิวัฒน์ เลิศวิวัฒน์วงศา | 2007 | 9:35
- Cutter, Trimmer and Chainsaw | ปฐมพล เทศประทีป | 2011 | 2:53 (Excerpt from 59 mins)
January 28, 2012
Kim Kyung-Man | South Korea | 2011 January 28, 2012
An Escalator in World Order
ฤกษ์ฤทธิ์ ตีระวนิช | ไทย, เม็กซิโก | 2554 [2011] January 26, 2012
ลุงนิ่วไปเยี่ยมเพื่อนบ้าน | Lung Neaw Visits His Neighbours
Will Gluck | USA | 2010 January 24, 2012
David Schwimmer | USA | 2010 January 24, 2012
Le gamin au vélo (original title) | Jean-Pierre and Luc Dardenne | Belgium | 2011 January 16, 2012
The Kid with a Bike
Bir zamanlar Anadolu'da (original title) | Nuri Bilge Ceylan | Turkey, Bosnia and Herzegovina | 2011 January 14, 2012 คงนานแล้วแหละ...
Once Upon a Time in Anatolia
January 14, 2012
คงนานแล้วแหละที่ความอืดฉืดเนิบช้า เป็นตราสำคัญหนึ่งของหนังความเป็นหนังอาร์ต ระยะหลังๆ - ซึ่งไม่รู้ว่าทำไมเหมือนกัน - เราพบว่าตัวเองเริ่มเอียนสไตล์นี้ เหตุเพราะรู้สึก (เอาเอง) ว่าหนังหลายเรื่องเจตนาใช้สไตล์เช่นนี้ โดยเป็นการตั้งสไตล์นำเสนอเป็นตัวนำ แทนที่จะนำมาใช้เพื่อทำให้สิ่งที่อยากเอ่ยนั้นเกิดขึ้นอย่างมีประสิทธิภาพ หรือเอาเฉพาะในมุมของคนดูหนังแบบส่วนตัวล้วนๆ หนังเอื่อยเฉื่อยหลายเรื่องทำให้เรารู้สึกเบื่อแทนที่จะตรึงเราไว้กับการคิดอะไรบางอย่าง
One Upon a Time in Anatolia เอื่อยเฉื่อยมากตลอดเวลาสองชั่วโมงกว่า ไม่บ่อยครั้งที่เราดูหนังแล้วรู้สึกเหนื่อย แต่หนังเรื่องนี้ทำให้เรารู้สึกเหนื่อยสุดๆ เหนื่อยจริงไม่ใช่เหนื่อยแบบหดหู่ ทดท้อ เหนื่อยใจกับชะตากรรมของตัวละครและมนุษย์โดยรวม หรืออะไรประมาณนั้น แต่กระนั้น มันก็หาได้เป็นความรู้สึกเหนื่อยเชิงลบ ตรงกันข้ามเลย เราล้าแต่หนังเรื่องนี้คงอยู่กับเราและให้ต้องเก็บไปคิดยาวนาน ครึ่งหนึ่งคงคิดถึงเรื่องราวและโดยเฉพาะภาพจากหนัง แต่อีกครึ่งหนึ่งนั้นคือการคิดถึงตัวเอง
หนังว่าด้วยคนกลุ่มหนึ่งเดินทางออกจากเมืองไปยังทุ่งร้างกลางหุบเขากว้างไกลสุดลูกหูลูกตา เป้าหมายคือเพื่อนำตัวฆาตกรสองคน (คนหนึ่งสารภาพว่าตัวเองเป็นคนสังหารเหยื่อ) ออกไปชี้จุดฝังศพเหยื่อซึ่งก็คือเพื่อนของทั้งสอง คณะประกอบด้วยอัยการ หมอ ตำรวจ ทหาร คนงาน เกือบครึ่งเรื่องของหนังคือการที่รถสามคันตระเวนไปยังจุดต่างๆ ที่ลงเอยด้วยความล้มเหลวเพราะเป็นการชี้จุดผิด จากพลบค่ำจนถึงดึกดื่น กระทั่งทุกคนเริ่มเหนื่อยล้าและอารมณ์เริ่มปรวนแปร จึงตัดสินใจแวะค้างคืนที่หมู่บ้านอนาถาแห่งหนึ่ง
พวกเขาค้างแรมที่บ้านของหัวหน้าหมู่บ้าน ขณะร่วมดื่มชารวมกันที่ห้องหนึ่ง ไฟฟ้าเกิดดับลง หัวหน้าหมู่บ้านตะโกนเรียกให้ลูกสาวของตนนำตะเกียงเข้ามาให้แสง แสงตะเกียงลามเลียผนังห้องก่อนเด็กสาวจะค่อยๆ ปรากฏตัว เธอถือถาดถ้วยน้ำชาบรรจงแจกบรรดาผู้ชายที่อิดโรยทีละคนๆ ท่ามกลางความมืด แสงสว่างจากตะเกียงอาบใบหน้าของเด็กสาวซึ่งงดงามบริสุทธิ์ดุจนางฟ้า ชายแต่ละคนมีปฏิกิริยาแตกต่างกันไป ความลับ อดีตและความจริงอันอัดอั้นของแต่ละคนค่อยๆ เผยตัวออกมาหลังจากฉากอันแสนมหัศจรรย์นั้น
เมื่อรุ่งสาง พวกเขาเดินทางจากมา กระทั่งเจอศพที่ตามหา อีกครึ่งเรื่องหลังจากนั้นคือช่วงเวลากลางวัน กระบวนการบันทึกคดีและชันสูตรศพเดินล้อไปกับการเปิดเผยความจริงอันเจ็บปวดของตัวละครอีกบางคน กระทั่งจบเรื่องด้วยความเงียบงันและความรู้สึกอันยากจะอธิบาย เมื่อเกิดคำถามว่าความจริงควรถูกเปิดเผยหรือมิดเม้นเอาไว้เพื่อเยียวยาหัวใจอันปวดร้าวของแต่ละคน
ท่ามกลางความนิ่งช้าของเรื่องราว ฉากท้องทุ่งอันว่างเปล่าเปิดโอกาสให้เรานึกย้อนอดีตของตัวเอง สำรวจความทรงจำที่อ้างว้าง และเสียงซึ่งหลงลืมไปนาน อารมณ์ที่ถูกจุดติดในครึ่งเรื่องแรกครอบงำเมื่อก้าวสู่ครึ่งเรื่องหลัง เราแทบหลั่งน้ำตาเมื่อถึงบทสนทนาอันเจ็บปวดที่ว่าด้วยการพรากชีวิตตนเพื่อทำร้ายใครอีกคน
คงไม่ต้องตั้งคำถามอีกต่อไปว่าความนิ่งช้าเรียบเฉยนั้นซื่อสัตย์หรือดัดจริตในภาพยนตร์ แค่หนังเรื่องนี้นำเราไปสู่ภาวะนี้ เมื่อจอดำมืดและเครดิตท้ายเรื่องค่อยๆ ปรากฏ ขณะที่เสียงนั้นยังคงได้ยินต่อไป วิธีการเช่นนี้เหมือนกับที่เร็วๆ นี้ Revanche (Götz Spielmann, 2008) Poetry (Lee Chang-dong, 2010) ใช้ และก็ได้ผลเช่นเดียวกันกับเรา คือนิ่งงันอยู่จนทุกอย่างดำมือและจอสว่างพร้อมจะเล่นซ้ำอีกรอบ
Jacques Audiard | France, Italy | 2009 January 12, 2012 ไม่มีอะไรมากหรอกที่หยิบหนังเรื่องนี้ขึ้นมาดู เพียงเพราะว่าเราวางมันไว้ใกล้กับ T...
Un Prophète
January 12, 2012
ไม่มีอะไรมากหรอกที่หยิบหนังเรื่องนี้ขึ้นมาดู เพียงเพราะว่าเราวางมันไว้ใกล้กับ The Secret in Their Eyes ที่เพิ่งดูเมื่อวันก่อนโน้น หยิบมาพร้อมกันแล้ววางไว้หน้าเครื่องเล่น จำไม่ค่อยได้ชัดแล้วเหมือนกันว่าทำไมก่อนหน้านี้ถึงวางมันไว้ใกล้กัน อาจจะเพราะเคยเป็นหนังที่ออกตระเวนฉายไล่เลี่ยกัน และผลัดกันกวาดรางวัลที่โน่นที่นี่ - กับอีกเรื่องหนึ่งคือ The White Ribbon ของท่านพ่อฮาเนเก้ ตัวอย่างการวนรางวัลกันในเทศกาลใหญ่ที่ทั้งสามเรื่องเข้ารอบประชันกันก็เช่น Prophet ได้รางวัลที่บาฟตา Secret ไปได้ออสการ์ ส่วนปาล์มทองที่คานส์ตกเป็นของ Ribbon นี่แค่ส่วนหนึ่งเท่านั้น
ที่จริงเราเริ่มดูตั้งแต่เมื่อคืนวาน เหนื่อยจากงานด้วยกระมังจึงทำให้รู้สึกค่อนข้างล้า ความยาวของหนังแค่สองชั่วโมงนิดๆ แต่ตอนนั้นรู้สึกล้าเกิน ไม่ไหวแล้วจึงขอพักและไปนอน หรืออาจเป็นเพราะมันเป็นหนังของผู้ชายเกินไปซึ่งทำให้เราไม่ได้อินมากจนถึงขั้นหยุดพักดูไม่ได้
คืนนี้เลยมาต่อให้จบ เออแฮะ ที่จริงถ้าเมื่อคืนวานเราอดทนผ่านครึ่งเรื่องก็อาจจะหยุดดูไม่ได้เหมือนกัน เพราะทันทีที่หนังเข้าครึ่งหลังซึ่งทำให้พอเห็นแล้วว่าหนังจะพาเราไปเป็นพยานกับหนทางชีวิตแบบใดของตัวละคร ความเข้มข้นไต่ระดับสูงขึ้นเรื่อยๆ ไปจนถึงฉากจบที่ต้องผ่อนลมหายใจยาวๆ (โดยเฉพาะเมื่อนึกถึงเปรียบเทียบตัวละครเดียวกันที่เราเห็นในตอนต้นเรื่อง)
หนังยืดยาวและมีหลายรายละเอียดยิบย่อยเป็นจำนวนมาก แต่ละรายละเอียดสามารถนั่งคุยขยายความได้ต่อเนื่องเป็นวันๆ ตลอดเรื่องที่ดู เรามักจะจับตาและเผลออยากนึกถึงประเด็นอาหรับ-มุสลิมอยู่เป็นระยะๆ หลายฉากหลายตอนที่อดคิดไม่ได้ว่าไม่มีทางจะเห็นในหนังของประเทศมุสลิม แม้กระทั่งในไทย (ฉากวางระเบิดสถานีรถไฟในหนังเรื่อง โอเคเบตง ไม่มีทางที่จะทำได้แล้วในวันนี้) หลายฉากที่น่าจะนำมาสู่การก่อม็อบประท้วงได้ง่ายๆ แต่แปลกมากที่พอถึงตอนหนังจบ เรากลับรู้สึกว่าฉากที่อาจกวนใจมุสลิมได้เลือนหายไปหมด และหนังกลับให้ความรู้สึกถึงความสมานฉันท์ระหว่างคนต่างชาติต่างศาสนาไม่น้อยเลย - ไม่รู้เหมือนกันว่าทำไมและอะไรที่ทำให้เกิดความรู้สึกเช่นนี้
อีกเรื่องที่นึกขำตัวเองก็คือ ไม่น้อยกว่าสามครั้งที่ดูหนังเรื่องนี้ที่เราเผลอนึกขึ้นมาว่า The Godfather ที่ว่าคลาสสิคนักหนาและวางอยู่บนหิ้งของหนังมาเฟียนั้น มันดูเรียบร้อยและเสแสร้งจนน่ารำคาญเสียจริง! เปรียบเทียบได้สิ อย่างน้อยในมุมที่มันพูดถึงใครคนหนึ่งคนนั้นที่ก้าวขึ้นมาเป็นมาเฟียตัวเอ้ Prophet ก็ว่าด้วยประเด็นนี้ แต่ด้วยหนทางที่ทุลักทุเล หวาดกลัว คับแค้น ใจสู้ เป็นจริงเป็นจัง บ้านๆ จนคล้ายจะสัมผัสจับต้องได้
Prophet - Secret - Ribbon เราชอบมากทั้งสามเรื่องนะ ในเมื่อเริ่มต้นโดยการยกมาเปรียบเทียบกัน ถ้าจะให้เราเองเป็นคนตัดสิน เรายกให้ The White Ribbon
Prophet มีหลายอย่างให้รู้สึกรุงรังอยู่บ้าง Secret สมบูรณ์แบบและเนี๊ยบจนเกินไปสำหรับเรามันทำให้เราระแวง (ในกรณีของหนังเรื่องนี้นะ บางเรื่องที่สมบูรณ์แบบอาจไม่รู้สึกแบบนี้)ขณะที่ Ribbon เรายังคงหวั่นผวามาจนถึงบัดนี้ทุกคราที่นึกถึงมัน หนังเรียบๆ เฉยๆ เรื่องนั้นน่าหวาดกลัวยิ่งกว่าหนังสยองขวัญ อาจเพราะตอนเราดูมันเมื่อปีที่แล้ว มันทำให้เรานึกเห็นความเลวร้ายสยองที่ซ่อนอยู่สังคมไทย ภายใต้ความสมานฉันท์ ยิ้มร่า ซาบซึ้งยินดี นั่นคือบรรยากาศก่อนการสังหารใหญ่จะเกิด
El secreto de sus ojos (original title) | Juan José Campanella | Argentina, Spain | 2009 January 8, 2012 The Secret in Their Eyes เป็...
The Secret in Their Eyes
January 8, 2012
The Secret in Their Eyes เป็นหนังที่ดีนะ ดีมากเลยเสียด้วยซ้ำ เราอยากลองนึกเล่นๆ ว่าอะไรที่ทำให้ตัวเราเองรู้สึกว่าหนังเรื่องนี้ดี หรืออะไรที่ทำให้นักวิจารณ์พากันยกย่อง
ดราม่าชั้นดี? การแสดงชั้นเลิศ? ปริศนาและการไขปริศนา? การเสื่อมศรัทธาและฟื้นความหวังต่อมนุษย์? อารมณ์ขันที่ใช้ได้อย่างพอดี เหมาะเหม็ง และมีประสิทธิภาพ? รักและโรมานซ์ที่เอิบอิ่มใจ? ลองเทคมหัศจรรย์จากฟากฟ้าสุราลัยสู่สนามฟุตบอล? ฯลฯ
ถ้าหมายรวมทั้งหมดนี้ นั่นก็คือการกำลังเอ่ยถึงภาพยนตร์เรื่องหนึ่งที่ถึงพร้อมความสมบูรณ์แบบ โดยเฉพาะการนำพาไปถึงภาวะนั้นโดยบทภาพยนตร์ที่แทบไร้ช่องโหว่
เนื้อเรื่องนั้น เราว่าเราเคยอ่านเคยผ่านตากับเรื่องราวประมาณนี้มาบ้างแล้วนะ ชายเพิ่งเกษียณตัดสินใจใช้เวลาที่เหลือของชีวิตในการเขียนนวนิยาย เพียงเพื่อจะได้ทบทวนและหาทางออกให้กับความผิดพลาดสองอย่างในชีวิตที่ผ่านมา หนึ่งคือความรักที่มิดเม้นไม่กล้าเอื้อนเอ่ย กับสองคือคดีความที่ตัวเองเคยพัวพันในอดีต แม้คดีจะสิ้นสุดลงแล้ว แต่มันคงคั่งค้างเป็นปริศนาในใจเขาตลอดระยะเวลายาวนาน
การตั้งต้นเขียนนวนิยายเกี่ยวกับคดีทำให้เขาหวนกลับไปคิดถึงเหตุการณ์ทั้งหมดอีกครั้ง หนังเล่าเรื่องตัดสลับปัจจุบันกับอดีต ก่อนจะเปิดเผยสิ่งที่ยังคงเป็นปริศนาและนำพาไปสู่การกล้าแสดงความรู้สึกในตอนท้ายเรื่อง
นอกจากความยอดเยี่ยมทั้งหลายแหล่ที่ได้ว่าไปแล้ว เราชอบที่หนังมีแง่มุมให้ได้คิดทบทวนถึงเรื่องความทรงจำและความเป็น fiction สองหรือสามครั้งที่หนังแสดงเจตนาชัดเจนที่ให้ตัวละครตั้งคำถามกันและกันเรื่องความทรงจำและความจริง และครั้งหนึ่งเต็มๆ ที่เห็นว่าตัวละคร "จำผิด" หรือสร้างความทรงจำ กระทั่งเป็นแรงผลักดันให้กับปัจจุบันเป็นอย่างสูง - แน่ล่ะ นี่คงไม่ใช่ประเด็นใหญ่ของหนังหรอกนะ
ถ้าจำไม่ผิด หนังเรื่องนี้น่าจะดัดแปลงมาจากนวนิยาย ตัวละครในเรื่องกำลังเขียนนวนิยาย เราว่าเหตุผลหนึ่งที่ทำให้ได้รับการชื่นชมสูงนั้นก็เพราะมันมีคุณสมบัติเหมือนนวนิยายชั้นดี ความสมบูรณ์แบบของมันเกิดขึ้นจากการที่มันตอบสนองความทรงจำของคนดูต่อการเล่าเรื่องแบบนวนิยาย เทคนิคทางภาพยนตร์และการแสดงชั้นเยี่ยมของตัวละครทุกตัวในเรื่องเสริมความทรงจำนั้นให้ชัดขึ้น
คนที่รักชอบหนังเรื่องนี้ย่อมต้องรักชอบหนังอย่าง Atonment, Cinema Paradiso, The Last Emperor หรืออะไรทำนองนี้ มันสมบูรณ์แบบและเป็นนวนิยาย เราก็ชอบ แต่แน่นอนว่าถ้าโยน ลุงบุญมีฯ ลงไป ไม่แคล้ววงแตก
Shawn Levy | USA | 2011 January 7, 2012 เอาล่ะ บางครั้งดูหนังกับคนอื่นเสียบ้างก็อาจจะเป็นช่วงเวลาดีๆ เหมือนกัน เราพอจะสนุกกับหนังเรื่อง...
Real Steel
January 7, 2012
เอาล่ะ บางครั้งดูหนังกับคนอื่นเสียบ้างก็อาจจะเป็นช่วงเวลาดีๆ เหมือนกัน เราพอจะสนุกกับหนังเรื่องนี้ได้บ้างก็เพราะได้หัวเราะและแอบตะโกน "เปรี้ยงๆ" ในใจไปพร้อมๆ กับคนนั่งข้างนั่นแหละ
อย่างไรก็ตาม แทบตลอดทั้งเรื่องที่คิดว่าถ้าหนังเนื้อเรื่องแบบนี้ถูกสร้างขึ้นและอยู่ในมือของผู้กำกับญี่ปุ่นเก่งๆ สักคน มันคงไปได้ไกลและน่าจะอิ่มใจกว่านี้เยอะเลย
Jonathan Levine | USA | 2011 January 6, 2012 เราคงเป็นคนที่จิตใจแข็งกระด้างไปเสียแล้วกระมัง หนังเรื่องนี้ที่คนชอบกันจัง เรากลับรู้สึก...
50/50
January 6, 2012
เราคงเป็นคนที่จิตใจแข็งกระด้างไปเสียแล้วกระมัง หนังเรื่องนี้ที่คนชอบกันจัง เรากลับรู้สึกเฉยๆ กับมันเสียเหลือเกิน หนังก็ไม่ได้เลวร้ายอะไร Joseph Gordon-Levitt ยังคงน่ารักและแสดงดีเหมือนเดิม ชอบที่มีดาราเก่าๆ อย่างตา Philip Baker Hall มาปรากฏอยู่บ้าง แต่เพราะมันตรงเป๊ะไปตามไลน์เรื่องของมัน มันก็เลยแค่นั้น
ส่วนดีที่สุดของหนังสำหรับเราคือ คุณป้า Anjelica Huston จำไม่ได้เสียแล้วว่าดูหนังเรื่องก่อนหน้านี้ของแกเรื่องอะไร ดูเหมือนว่าจะนานมากจนนึกไม่ออกจำไม่ได้ แต่แค่ไม่กี่ฉากที่ปรากฏในเรื่องนี้ อย่างนี้สิลายคราม!
อีกเรื่องหนึ่งที่ขัดใจมาก คือการใช้ Bryce Dallas Howard แบบนี้อีกแล้ว เธอเป็นดาราร่วมสมัยคนหนึ่งที่เราหลงชอบมากๆ มีความสุขที่เห็นเธอบนจอ แต่ไม่รู้ทำไมที่หนังหลายเรื่องในระยะไล่เลี่ยนี้กลับให้เธอแค่โผล่นิดปรากฏหน่อย ที่แสดงเยอะก็ให้บทร้ายแบบไม่สมเหตุสมผลเสียถึงขนาดนั้น โดยเฉพาะในหนังเฟคๆ เรื่อง The Help เรื่องนั้น เศร้าใจจัง
aka L'amico di famiglia (original title) | Paolo Sorrentino | Italy, France | 2006 January 5, 2012 เรามีหนังของ Paolo Sorrentino สอ...
The Family Friend
January 5, 2012
เรามีหนังของ Paolo Sorrentino สองเรื่องมาดองไว้นานแล้ว ได้เคยอ่านเจอเสียงร่ำลือถึงหนังเรื่อง The Consequences of Love (2004) ของเขา แต่เราไม่เคยซื้อหามาดูได้ ได้อีกสองเรื่องมาเก็บไว้แทน วันนี้ลองหยิบเรื่องนี้มาดูดีกว่า
The Family Friend เล่าเรื่องราวชีวิตของคนจำนวนหนึ่งในซอกมุม-ชุมชนหนึ่งในเมืองใหญ่ของอิตาลี ศูนย์กลางของเรื่องอยู่ที่ชายวัยทองหน้าตาจัดว่าอัปลักษณ์ชื่อ เจเรเมีย หน้าตาว่าอัปลักษ์แล้วดูเหมือนว่านิสัยของเขาจะน่าเกลียดเสียยิ่งกว่า เจเรเมียอาศัยอยู่ในห้องพักทึบทึมอุดอู้ร่วมกับแม่ขี้โรคที่นอนแบ่บอยู่กับเตียง บังหน้าคืออาชีพช่างตัดเสื้อ แต่ทุกคนรู้ดีว่าเจเรเมียนั้นเป็นนายทุนเงินกู้ให้เก็บผู้คนในละแวก เขาขี้เหนียว เขี้ยว เลือดเย็นกับลูกหนี้ที่เบี้ยวหนี้หรือหาเงินมาจ่ายให้ตามเวลาไม่ได้ แต่ก็นั่นแหละ หลายต่อหลายครั้งที่คนเราไม่มีทางเลือกและจำเป็นต้องขอพึ่งพาคนแบบนี้เพื่อแก้ปัญหาเฉพาะหน้า
เกินครึ่งเรื่องที่เราได้เห็นว่าเจเรเมียน่ารังเกียจขนาดไหน ว่าเขาใช้ "ลูกน้อง" ให้จัดการลูกหนี้อย่างไร เขาแสร้งพูดแกล้งทำว่าตัวเองเป็นคนดี เป็นเพื่อนบ้านที่ดี แต่ทั้งหมดนั้นล้วนคือการเสแสร้ง เขาหาเศษหาเลยกับหญิงสาวที่ไร้ทางออก พูดจาเสียดแทงกับชายคนเดียวซึ่งใกล้ชิดและน่าจะเป็นเพื่อนคนเดียวของเขา แต่ขณะเดียวกันเราก็เริ่มรู้สึกว่าหมอนี่น่าสงสาร น่าสงสารเพราะความโดดเดี่ยวในชีวิตที่เขาสร้างขึ้นเอง
บางสิ่งบางอย่างเริ่มเปลี่ยนเมื่อเจเรเมียได้ปล่อยกู้ให้กับครอบครัวหนึ่งซึ่งต้องการกู้เงินไปใช้ในงานแต่งงานของลูกสาว เธอเป็นสาวสวย พ่อแม่ต้องการทุ่มทุกอย่างเพื่อให้งานแต่งงานของลูกเลิศหรู กระทั่งในวันแต่งงาน เมื่อเธอรู้ความจริงเรื่องเงินที่หยิบยืมมา เจเรเมียอาศัยเหตุนี้ในการบีบบังคับให้หญิงสาวรุ่นคราวลูกยอมพลีกายให้ เธอร้องไห้ในตอนเข้าพิธี เจเรเมียสะท้อนใจเมื่อแอบมองอยู่ห่างๆ และเห็นน้ำตาของเธอ แล้วหลังจากนั้นชายอัปลักษณ์คนนี้ได้เริ่มเกิดความรักต่อเธอ
ความรักทำให้เขาเริ่มอ่อนแอ ทำลายหนทางและวิธีการที่เขาเคยยึดมั่นมาตลอด ในท้ายที่สุดมันได้นำไปสู่การตัดสินใจอันผิดพลาด และบทสรุปอันก่อให้เกิดอารมณ์อันหลากหลายในตอนท้ายเรื่อง
เราค่อนข้างรู้สึกเบื่อๆ อยู่บ้างในช่วงต้นๆ จนเกือบถึงกลางเรื่อง ไม่รู้ว่าทำไมเหมือนกันที่ระยะหลังๆ ที่เรามักรู้สึกเอียนๆ กับหนังที่โชว์เก๋และเลือกใช้เพลงเท่ๆ แต่หลังจากนั้นเมื่อหนังเริ่มเปิดเผยให้เห็นแง่มุมอื่นที่ซุกซ่อนอยู่ในตัวละครแต่ละตัว เราก็เริ่มจมดิ่งลงไปกับหนัง ปมเรื่องทำนองนี้มีหนังหลายเรื่อง หนังสือหลายเล่มได้นำเสนอมาก่อนแล้ว เรารู้สึกว่ามันไม่ได้เป็นสิ่งใหม่แต่อย่างไร แต่ก็นั่นแหละ ชะตากรรมของมนุษย์มันก็อาจจะซ้ำไปซ้ำมาอยู่แบบนี้ ที่เราชอบหนังเรื่องนี้เพราะตัวเองรู้สึกชาไปไม่น้อยที่หนังจบโดยไม่ฟูมฟายกับตัวละครใดเลย ทุกคนโดดเดี่ยวพอๆ กัน ต่างดิ้นรนไขว่คว้าหาอะไรบางอย่างของตน แล้วก็ทำร้ายกันเองเพื่อที่แต่ละคนจะกลับไปโดดเดี่ยวดังเดิม
เราชอบตอนจบของหนังเรื่องนี้มาก มากจนตัวเองยังไม่อยากปิดหนัง เลยลองเปิดดูของแถมที่มากับดีวีดีต่ออีกสักหน่อย แล้วได้พบความจริงพร้อมกับยืนยันกับตัวเองว่า ไอ้ของแถมทั้งหลายที่หลายคนบอกว่ามันทำให้ดีวีดีคุ้มค่านั้น แท้ที่จริงแล้วมันเป็นส่วนเกินจริงๆ เราหมดอารมณ์ไปเลย โดยเฉพาะเมื่อลองเปิดดูฉากจบแบบอื่นๆ ที่ผู้กำกับทำไว้สำหรับเลือก เพราะตอนจบที่ไม่ได้ใช้บางตอนมันเปิดเผยว่าพวกเขาได้กำหนดทางออกให้ตัวละครบางตัวเป็นอย่างไร มันทำลายจินตนาการบางเรื่องของเราเสียสิ้น ต่อไปจะไม่เปิดดูไอ้พวกของแถมเหล่านี้อีกแล้วเจ้าค่ะ
Francesco Rosi | Italy | 1962 January 4, 2012 ไม่ได้เป็นเพราะเจตนาหรือการกะเกณฑ์ใดๆ เราเพียงสุ่มหยิบหนังสักเรื่องมาดู แล้วก็พบว่าหนังเร...
Salvatore Giuliano
January 4, 2012
ไม่ได้เป็นเพราะเจตนาหรือการกะเกณฑ์ใดๆ เราเพียงสุ่มหยิบหนังสักเรื่องมาดู แล้วก็พบว่าหนังเรื่องนี้มีบางประเด็นที่ตรงกับโน้ตต่อ The Round-Up ที่เพิ่งดูเมื่อวาน ที่ว่ามันทำให้เรานึกถึงหนังสือเรื่อง Bandits ของ Eric Hobsbawm ขึ้นมา หนังเรื่องที่ดูวันนี้ก็ยิ่งขยายประเด็นสำหรับกลุ่มคนนอกกฎหมายของ Hobsbawm ชัดขึ้นไปอีก
Salvatore Giuliano เป็นชื่อของมาเฟีย/หัวหน้ากลุ่มกองโจรนอกกฎหมายในซิซิลี ผู้ซึ่งฆ่าคนตั้งแต่ตัวเองยังเป็นหนุ่มรุ่นกระทง กระทั่งชะตาชีวิตกำหนดให้ต้องกลายเป็นโจร ในช่วงแห่งการรณรงค์แยกตัวออกจากอิตาลี นักการเมืองแห่งซิซิลีได้ดึงเอากุยลีอาโนและลูกสมุนของเขามาเป็นกองกำลังต่อต้านรัฐบาล กระทั่งเมื่อการเมืองเริ่มมีทางออก สถานะของเหล่ากองโจรก็ยังคงถูกกำหนดให้ดำรงอยู่ในสภาพเดิม ยิ่งกว่านั้นคือความพยายามในการกำจัดกลุ่มกองโจรเหล่านี้ยิ่งถูกผลักดันเต็มอัตราศึกมากขึ้น กระทั่งในเช้าวันหนึ่งก็มีผู้พบศพกุยลีอาโนในวัยแค่ 26 ปีถูกสังหารอยู่ในซอยแคบแห่งหนึ่ง ข่าวการเสียชีวิตของเขาได้กลายเป็นข่าวโด่งดังระดับชาติ ภาพยนตร์เรื่องนี้เริ่มเรื่องที่เหตุการณ์ในเช้าวันนั้น
Francesco Rosi สร้างภาพยนตร์เรื่องนี้ขึ้นเพียงไม่กี่ปีหลังการสังหารกุยลีอาโน โดยลุยไปถ่ายไปเมืองและสถานที่จริงที่กุยลีอาโนเคยก่อวีรกรรมและกลายเป็นตำนานเกือบทั้งหมด ยิ่งกว่านั้นคือนักแสดงเกือบทั้งหมดในเรื่องก็ดึงเอาชาวบ้านร้านตลาดมาแสดง ดูเหมือนว่าจะมีเพียงแค่สองคนเท่านั้น (ผู้พิพากษาและมือขวาของกุยลีอาโน) ที่เป็นนักแสดงมืออาชีพมาก่อน
พอเห็นได้ว่าหนังเรื่องนี้อื้อฉาวเป็นที่ถกเถียงอยู่ไม่น้อย โดยเฉพาะในอิตาลี แต่เราคงไม่มีความรู้และ "อิน" มากพอที่จะไปตั้งคำถามเรื่องความถูกต้องของข้อมูลและการตีความเหตุการณ์ของ Francesco Rosi เอาเท่าที่สัมผัสมันในฐานะภาพยนตร์เรื่องหนึ่ง เราค่อนข้างชอบมันไม่น้อยเลย แรกสุดคือหนังเรื่องนี้มันผสมผสานกับหลายแนวทางเข้าไว้ด้วยกัน ทั้งอิทธิพลของ neo-realism (Rosi เริ่มต้นอาชีพโดยการเป็นผู้ช่วยในกองถ่ายภาพยนตร์ของ Lucino Visconti) ลีลาแบบหนังสารคดีในบางช่วงตอน ก่อนจะกลายเป็นหนังสืบสวนสอบสวน เหตุการณ์ยาวเหยียดของการไต่สวนคดีในศาล สู่หนังเบื้องหลังโลกของมาเฟีย และการเป็นหนังการเมือง... หลากรสครบครัน
เราไม่ได้มีข้อมูลมากพอ แต่อยากสันนิษฐานว่าผู้กำกับหนังหลายคนที่ทำหนังการเมืองอันว่าด้วยการคอรัปชั่น อิทธิพลขององค์กรทหาร-ตำรวจต่อการเมือง และกระทั่งหนังมาเฟีย (โดยเฉพาะจากซิซิลี) น่าจะได้รับอิทธิพลจากหนังเรื่องนี้ไปไม่น้อย
สิ่งหนึ่งที่โดดเด่นอย่างมากและทำให้เรายอมรับในฝีมือของ Francesco Rosi เป็นอย่างมากคือการถ่ายฉากฝูงชน สงสัยว่าเขาทำอย่างไรกันที่สามารถทำให้บรรดานักแสดงสมัครเล่นทั้งหลายปลดปล่อยอารมณ์รวมหมู่ได้ดีมากขนาดนั้น มีหลายฉากที่น่าจดจำจากหนังเรื่องนี้ แต่ถ้าว่าด้วยฉากฝูงชนแล้ว เราตะลึงมากๆ กับฉากเหล่าแม่บ้านวิ่งหวีดร้องกันมาตามท้องถนน รวมตัวเพื่อประจันหน้ากับกองทหารที่กระชากเหล่าผู้ชายออกจากบ้านและพวกเขาถูกควบคุมตัวอยู่ที่ลานของเมือง และแน่นอนว่าต้องรวมถึง ฉากความโกลาหลและการฆาตกรรมหมู่กลางท้องทุ่งที่ดำเนินการโดยกลุ่มโจรของกุยลีอาโน
ตลอดทั้งเรื่องเราแทบไม่เห็นหน้าเต็มของกุยลีอาโนเลย ซึ่งนั่นยิ่งทำให้บริบทแวดล้อม ทั้งความยากไร้ ความอยุติธรรม การฉ้อฉลคอรัปชั่น ฯลฯ ชัดเจนขึ้นเท่าทวีคูณ
aka Szegénylegények (original title) | Miklós Jancsó | Hungary | 1966 January 3, 2012 เราได้ยินชื่อของ Miklós Jancsó มานานโข ในฐานะผู้ก...
The Round-Up
หนังถ่ายแบบขาว-ดำในระบบซีเนมาสโคป เห็นได้ชัดว่า Miklós Jancsó ผู้กำกับมีมุมมองด้านภาพที่โดดเด่นในการจับเอาความแห้งแล้งของสถานที่ และใบหน้าอันด้านดิบของนักโทษและความเฉยชาของเหล่าทหาร ผู้คุม และผู้สอบสวน ลีลาการเล่าเรื่องที่ปล่อยไหลยิ่งขับให้วิธีการสอบเค้นหานักโทษที่เป็นที่ต้องการตัวและวิธีการใช้อำนาจนั้นเต็มไปด้วยความเย็นชา และยิ่งทำให้สะท้อนใจต่อทั้งความซื่อสัตย์และการตัดสินใจทรยศ
นี่ก็เหลือแหล่แล้วสำหรับการจะชอบและยกย่องภาพยนตร์สักเรื่องหนึ่ง
อาจจะไม่เกี่ยวกับหนังเรื่องนี้สักเท่าไหร่ แต่ตั้งแต่ตอนเปิดเรื่องจนถึงจบหนัง เราดันนึกถึงหนังสือเรื่อง Bandits ของ Eric Hobsbawm ซึ่งเคยถูกบังคับให้อ่านเมื่อนานมาแล้วอยู่เป็นระยะๆ หนังสือเล่มนี้ของ Hobsbawm พิมพ์ปี 1969 อันเป็นช่วงเวลาไล่เลี่ยกันกับ The Round-Up เข้าใจว่าหนังสือและหนังนี้คงไม่ได้เกี่ยวข้องอะไรกันใกล้ชิดหรอก แต่กระนั้นเรารู้สึกว่ามันสามารถส่ง-รับกันได้ดี ดูหนังเรื่องนี้ประกอบการอ่าน Bandits จะสามารถช่วยให้เข้าใจ "โจร" และ "คนนอกกฎหมาย" หลายประเภทที่ Hobsbawm จำแนกไว้ได้ดีไม่น้อย น่าจะนะ
aka Trollflöjten (original title) | Ingmar Bergman | Sweden | 1975 January 2, 2012 เมื่อหลายปีก่อน เราเคยนั่งคุยกับอาจารย์ที่เคารพรักสอ...
The Magic Flute
January 2, 2012
เมื่อหลายปีก่อน เราเคยนั่งคุยกับอาจารย์ที่เคารพรักสองท่านเรื่องโอเปร่า ที่จริงไม่ใช่การ "คุย" หรอก เรานั่งฟังพวกท่านเล่าความประทับใจจากการชมโอเปร่าเสียมากกว่า พวกท่านเล่าให้ฟังถึงแผนการที่จะเดินทางไกลไปชมโอเปร่าเลื่องชื่อ แนะนำเราถึงช่องทางในการดื่มด่ำทำความเข้าใจศิลปะแขนงนี้ เราซักถามคำถามที่รู้ตัวดีว่าอาจจะโง่เขลา และนั่งฟังด้วยความอยากรู้อยากเห็นอยู่หลายชั่วโมง เป็นการสนทนาที่ออกรสสนุกสนาน แต่มันจบลงด้วยการที่เราพูดกับตัวเองในใจว่า คงยากแหละค่ะที่ดิฉันจะดื่มด่ำกับมันได้ ดูหนังง่ายกว่าเยอะ (ไม่เคยคุยกับพวกท่านเรื่องหนังอย่างจริงจัง แต่ครั้งหนึ่งจำได้ว่า อาจารย์ท่านหนึ่งบอกว่าหนังในดวงใจของแกคือ The Last Emperor หุ หุ)
เบิร์กแมนเป็นคนหนึ่งที่ทำให้เราเคยตั้งคำถาม (ถามตัวเองเล่นๆ โดยไม่ได้คิดจะหาคำตอบจริงจังเหมือนเคยนั่นแหละ) ว่าการชมโอเปร่ากับภาพยนตร์มันอยู่กันคนละขั้วอย่างที่เราเคยคิดจริงหรือ เพราะเป็นที่รู้กันว่าปรมาจารย์ท่านนี้รักหลงใหลผูกพันกับการละคร โอเปร่า ดนตรีคลาสสิกขนาดไหน หนังของเขาหลายเรื่องถ่ายทอดความรักเหล่านี้ออกมาอยู่บ่อยครั้ง เราไม่ได้ดูหนังเบิร์กแมนครบถ้วนแบบแฟนเดนตาย แต่เดาว่าไม่มีเรื่องไหนที่เล่นกับโอเปร่าได้ชัดเท่ากับ The Magic Flute เรื่องนี้อีกแล้ว เพราะตลอดหนังเรื่องนี้ (แรกเริ่มด้วยการทำฉายทางทีวี) "ดูเหมือน" จะเป็นการใช้กล้องถ่ายการแสดงโอเปร่าเรื่องดังของโมสาร์ททั้งเรื่องนั่นเอง
เหลือเชื่อกับตัวเอง ที่เราพบในท้ายที่สุดว่าตัวเองสามารถทนดูโอเปร่า/หนังเรื่องนี้ตลอดความยาวสองชั่วโมงกว่าได้จนจบ และด้วยความหฤหรรษ์บันเทิงอย่างมากเสียด้วยซ้ำ
เบิร์กแมนเปิดเรื่องเชยๆ ด้วยการตัดสลับไปหน้าผู้ชมหลายวัยหลากเชื้อชาติที่กำลังนั่งชมโอเปร่าเรื่องนี้อยู่ ตัดแต่ละใบหน้าให้สอดคล้องลงรอยตามจังหวะดนตรีคลาสสิคโหมโรง ก่อนที่ในเวลาต่อมาจะเหลือแค่ใบหน้าเด็กสาวคนหนึ่งที่ตัดสลับโผล่มาเป็นระยะๆ ตลอดทั้งเรื่อง เราคงไม่บังอาจไปรู้เรื่องว่าเบิร์กแมนปรับแต่งตีความใหม่เนื้อเรื่องบ้างหรือไม่ เพราะเขาก็แค่นั่งดูไปเรื่อยๆ ในระยะแรก ก่อนที่จะสนุกมากขึ้นเรื่อยๆ เมื่อผู้กำกับชั้นครูผู้นี้เริ่มมีลูกเล่นหลากหลายเข้ามาท้าทายให้คิดตลอด
เบิร์กแมนเล่นกับศิลปะทั้งสองแขนงนี้ได้อย่างสนุกสนาน เมื่อเขาเปิดเผยเบื้องหลังของการแสดงละคร ให้เราเห็นนักแสดงกำลังเตรียมตัว พักครึ่ง สูบบุหรี่ เล่นหมากรุก ฯลฯ ก่อนที่จะโน้มน้าวให้เราจมลงไปกับเนื้อเรื่องอีกครั้ง แล้วจากนั้นก็เปิดเผยการเป็นการแสดงอีกรอบ แล้วก็จมดิ่งอีกครั้ง แล้วจู่ๆ ไม่ทันรู้ตัว เราก็พบว่าทั้งเทคนิคของภาพยนตร์และการแสดงบนเวทีเหมือนจะหลอมรวมเป็นเนื้อเดียว ถึงตอนจบที่ตลบศิลปะทั้งสองแขนงกลับไปกลับมาอย่างพลิกแพลง เราก็เตรียมตัวจะตะโกน "บราโว" เมื่อดนตรีเร่งเร้าถึงจุดสูงสุดเป็นอันเรียบร้อยแล้ว
ไม่รู้หรอกว่าหากมีโอกาสได้ชมโอเปร่าจริงๆ เราจะชอบดื่มด่ำกับมันได้หรือเปล่า แต่สำหรับตอนนี้ ก็พอจะยอมรับมันได้อยู่บ้าง ทั้งนี้ด้วยท่านปู่เบิร์กแมนล้วนๆ และไม่ว่ายังไงก็ต้องยอมรับกับตัวเองอีกครั้ง ว่าหมอนี่ ฝีมือจริงๆ
Terrence Malick | USA | 1973 January 1, 2012 เปิดบล็อกนี้ทิ้งไว้หนึ่งปีเต็ม ในคราแรกกะว่าจะใช้มันบันทึกประเด็นทางสังคม-การเมืองที่เกิดข...
Badlands
January 1, 2012
เปิดบล็อกนี้ทิ้งไว้หนึ่งปีเต็ม ในคราแรกกะว่าจะใช้มันบันทึกประเด็นทางสังคม-การเมืองที่เกิดขึ้นอย่างเข้มข้นและน่าจะเข้าสู่ภาวะจุดเปลี่ยนสำคัญ (ด้วยเหตุนี้จึงตั้งชื่อบล็อกเสียอย่างนั้น) แต่กลับกลายเป็นว่าเป็นตัวเราเองที่เริ่มเฉื่อยเนือยกับภาวะทางการเมือง ซึ่งมาคิดดูอีกทีนั่นน่าจะเพราะการที่สถานการณ์ทางการเมืองมาถึงจุดตัน "ตัน" ตรงที่ว่าความเปลี่ยนแปลงใหญ่ไม่อาจเกิดได้ง่ายๆ สิ่งที่เราคาดหวังให้เปลี่ยนกลับยังคงทรงพลังและดูเหมือนว่าจะเป็นอุปสรรคให้กับการพัฒนาประชาธิปไตยในประเทศนี้ต่อไปอีกระยะไม่น้อย จึงด้วยเหตุนี้ที่เราทำได้แค่แปะโปสเตอร์หนังที่ดูในแต่ละวันลงไว้เฉยๆ ซะงั้น การดูหนังซึ่งเป็นงานอดิเรกเลยกลายเป็นเรื่องหลักในบล็อก (ซึ่งที่จริงก็ไม่มีอะไร) ไปตลอดหนึ่งปีที่ผ่านมา
ขึ้นปีใหม่ เรายังคงติดตามเรื่องการเมือง แต่เหนื่อยหน่ายกับสิ่ง "ล้นเกิน" และไม่จำเป็นสำหรับประชาธิปไตยในประเทศนี้อยู่เหมือนเดิม จึงคิดว่าน่าจะให้บล็อกนี้เกิดประโยชน์แก่ตัวเองบ้าง โดยการควรจะเขียนโน้ตอะไรสั้นๆ ลงไปบ้างเกี่ยวกับหนังที่เพิ่งดูผ่านไป เราเป็นเพียงแค่คนชอบดูหนัง ไม่สามารถจัดตัวเองอยู่ในกลุ่มนักดูหนังประเภท "ฮาร์ดคอร์" ได้ ไม่ได้เรียนและไม่มีความรู้ใดๆ เกี่ยวกับศิลปะและสื่อแขนงนี้ ไม่ได้มีเพื่อนนักดูหนังที่ได้นั่งคุยนั่งถกเถียงกัน ที่จะเขียนบันทึกไว้ก็เพียงแค่อะไรที่ฉุกคิดขึ้นมา เพื่อว่าจะได้ช่วยจำ ในช่วงเวลานี้ซึ่งรู้สึกว่าความจำตัวเองจะด้อยประสิทธิภาพลงทุกวัน...
เริ่มต้นปีใหม่นี้ เราเลือกหนังเรื่องนี้มาดู- Badlands หนังปี 1973 ของเทอร์เรนซ์ มาลิก ที่เลือกหยิบเรื่องนี้นั้นหาได้มีอะไรพิเศษนอกจากเรายังไม่อยากดู The Tree of Life (2011) ซึ่งเพิ่งได้รับปาล์มทองของเขาก็เท่านั้นเอง ซึ่งนั่นก็ไม่รู้ว่าเพราะอะไรเหมือนกัน
เป็นที่รู้กันดีว่ามาลิกนั้นได้ชื่อว่าเป็นผู้กำักับที่เก็บตัวค่อนข้างมาก และนั่นก็รวมถึงการสร้างหนังของเขาด้วย ซึ่งกว่าจะปล่อยแต่ละเรื่องออกมาได้เป็นกินเวลานานโข เราเคยดู Days of Heaven (1978) และ The Thin Red Line (1998) เมื่อนานมาแล้ว หลงลืมรายละเอียดจำนวนมากไปเสียแล้ว แต่รู้สึกว่าจะชอบทั้งสองเรื่องนั้นไม่น้อยเลย
พอได้ย้อนกลับไปดู Badlands ซึ่งเป็นหนังเรื่องแรกของเขา พอจะระลึกได้ว่าลีลาและท่วงทำนองเฉพาะตัวบางประการของเขาปรากฏชัดอยู่ตั้งแต่หนังเรื่องแรกนี้ (แต่ยังไม่แน่ใจว่ามันจะปรากฏอยู่ใน The New World (2005) และ The Tree of Life อยู่อีกบ้างหรือเปล่า) อาทิ งานด้านภาพที่พิถีพิถันและรักที่จะเก็บรายละเอียด ทัศนียภาพและการถ่ายทอดพลังของธรรมชาติ ตัวละครที่ดิ้นรนไขว่คว้าหาสถานที่เฉพาะของตนเอง แนวทางแห่งปัจเจกชนนิยม และการใช้เสียงบรรยายของตัวละคร
เราลองหาข้อมูลย้อนดูหนังเรื่องดังที่สร้างไล่เลี่ยกับ Badlands และเป็นหนังที่ตัวเองเคยดู น่าสนใจดีที่สามารถหยิบยกหนังพวกนี้ออกมา เช่นหนังกลุ่มก่อนหน้าอย่าง Midnight Cowboy (1969), The Sting (1969) Butch Cassidy and the Sundance Kid (1969) และที่สร้างออกมาในปีเดียวกัน เช่น Papillon (1973), Scarecrow (1973), Mean Streets (1973), The Sting (1973) และรวมถึงหนังในตำรวจดุอีกเป็นกะตั๊กในช่วงเวลาเดียวกัน
หนังกลุ่มนี้โดยส่วนใหญ่เป็นหนังในแนวทาง road movie เช่นเดียวกับที่ Badlands ก็สามารถจัดอยู่ในกลุ่มนี้ได้ ขณะเดียวกันที่หนังทั้งหมดนี้เป็นหนังประเภท "ไอ้เกลอ" (ไม่ใช่ "เพื่อนกูรักมึงว่ะ") ที่นำเสนอมิตรภาพอันแน่นแฟ้นของผู้ชายและความเป็นชาย เราไม่ได้รู้ประวัติศาสตร์หนังอเมริกันช่วงนั้นมาก แต่ขอเดาว่าหนังประเภทมิตรภาพระหว่างผู้ชายแท้เหล่านี้น่าจะเป็นปฏิกิริยาต่อการเคลื่อนไหวเพื่อสิทธิสตรีและเสรีภาพของกลุ่มรักร่วมเพศ
Badlands ของมาลิกซึ่งว่าด้วยการชะตากรรมและการเดินทางของคนนอกกฎหมาย ตัวละครเป็นคู่รักชาย-หญิง มีท่วงทำนองแบบ nostalgia ฯลฯ สร้างขึ้นมาท่ามกลางหนังในกลุ่มดังกล่าวเหล่านั้น เป็นสิ่งที่น่าตั้งคำถามไม่น้อย
เราค่อนข้างสะดุดใจกับวิธีการใช้เสียงบรรยายในหนังเรื่องนี้ และเช่นเดียวกับ Days of Heaven ที่มาลิกให้ผู้หญิงเป็นผู้บรรยายเรื่องราว ขณะที่ผู้ชายเป็นผู้กระทำและกำหนดชะตากรรมของพวกเธอ แต่ผู้ชมกำลังฟังเธอเล่า อย่างไรก็ตามเสียงเล่าใน Badlands ค่อนข้างสร้างความรู้สึกพิกลๆ ให้ตลอดเวลาที่ดูหนัง เพียงแต่เรายังไม่อยากตั้งคำถามและคิดกับมันจริงจัง เดี๋ยวปวดหัว
โน้ตแค่นี้ก่อนสำหรับหนังเรื่องนี้
ชอบในระดับเกือบมาก
0 comments:
Post a Comment