aka Trollflöjten (original title) | Ingmar Bergman | Sweden | 1975 January 2, 2012 เมื่อหลายปีก่อน เราเคยนั่งคุยกับอาจารย์ที่เคารพรักสอ...

The Magic Flute

aka Trollflöjten (original title) | Ingmar Bergman | Sweden | 1975


January 2, 2012

เมื่อหลายปีก่อน เราเคยนั่งคุยกับอาจารย์ที่เคารพรักสองท่านเรื่องโอเปร่า ที่จริงไม่ใช่การ "คุย" หรอก เรานั่งฟังพวกท่านเล่าความประทับใจจากการชมโอเปร่าเสียมากกว่า พวกท่านเล่าให้ฟังถึงแผนการที่จะเดินทางไกลไปชมโอเปร่าเลื่องชื่อ แนะนำเราถึงช่องทางในการดื่มด่ำทำความเข้าใจศิลปะแขนงนี้ เราซักถามคำถามที่รู้ตัวดีว่าอาจจะโง่เขลา และนั่งฟังด้วยความอยากรู้อยากเห็นอยู่หลายชั่วโมง เป็นการสนทนาที่ออกรสสนุกสนาน แต่มันจบลงด้วยการที่เราพูดกับตัวเองในใจว่า คงยากแหละค่ะที่ดิฉันจะดื่มด่ำกับมันได้ ดูหนังง่ายกว่าเยอะ (ไม่เคยคุยกับพวกท่านเรื่องหนังอย่างจริงจัง แต่ครั้งหนึ่งจำได้ว่า อาจารย์ท่านหนึ่งบอกว่าหนังในดวงใจของแกคือ The Last Emperor หุ หุ)

เบิร์กแมนเป็นคนหนึ่งที่ทำให้เราเคยตั้งคำถาม (ถามตัวเองเล่นๆ โดยไม่ได้คิดจะหาคำตอบจริงจังเหมือนเคยนั่นแหละ) ว่าการชมโอเปร่ากับภาพยนตร์มันอยู่กันคนละขั้วอย่างที่เราเคยคิดจริงหรือ เพราะเป็นที่รู้กันว่าปรมาจารย์ท่านนี้รักหลงใหลผูกพันกับการละคร โอเปร่า ดนตรีคลาสสิกขนาดไหน หนังของเขาหลายเรื่องถ่ายทอดความรักเหล่านี้ออกมาอยู่บ่อยครั้ง เราไม่ได้ดูหนังเบิร์กแมนครบถ้วนแบบแฟนเดนตาย แต่เดาว่าไม่มีเรื่องไหนที่เล่นกับโอเปร่าได้ชัดเท่ากับ The Magic Flute เรื่องนี้อีกแล้ว เพราะตลอดหนังเรื่องนี้ (แรกเริ่มด้วยการทำฉายทางทีวี) "ดูเหมือน" จะเป็นการใช้กล้องถ่ายการแสดงโอเปร่าเรื่องดังของโมสาร์ททั้งเรื่องนั่นเอง

เหลือเชื่อกับตัวเอง ที่เราพบในท้ายที่สุดว่าตัวเองสามารถทนดูโอเปร่า/หนังเรื่องนี้ตลอดความยาวสองชั่วโมงกว่าได้จนจบ และด้วยความหฤหรรษ์บันเทิงอย่างมากเสียด้วยซ้ำ

เบิร์กแมนเปิดเรื่องเชยๆ ด้วยการตัดสลับไปหน้าผู้ชมหลายวัยหลากเชื้อชาติที่กำลังนั่งชมโอเปร่าเรื่องนี้อยู่ ตัดแต่ละใบหน้าให้สอดคล้องลงรอยตามจังหวะดนตรีคลาสสิคโหมโรง ก่อนที่ในเวลาต่อมาจะเหลือแค่ใบหน้าเด็กสาวคนหนึ่งที่ตัดสลับโผล่มาเป็นระยะๆ ตลอดทั้งเรื่อง เราคงไม่บังอาจไปรู้เรื่องว่าเบิร์กแมนปรับแต่งตีความใหม่เนื้อเรื่องบ้างหรือไม่ เพราะเขาก็แค่นั่งดูไปเรื่อยๆ ในระยะแรก ก่อนที่จะสนุกมากขึ้นเรื่อยๆ เมื่อผู้กำกับชั้นครูผู้นี้เริ่มมีลูกเล่นหลากหลายเข้ามาท้าทายให้คิดตลอด

เบิร์กแมนเล่นกับศิลปะทั้งสองแขนงนี้ได้อย่างสนุกสนาน เมื่อเขาเปิดเผยเบื้องหลังของการแสดงละคร ให้เราเห็นนักแสดงกำลังเตรียมตัว พักครึ่ง สูบบุหรี่ เล่นหมากรุก ฯลฯ ก่อนที่จะโน้มน้าวให้เราจมลงไปกับเนื้อเรื่องอีกครั้ง แล้วจากนั้นก็เปิดเผยการเป็นการแสดงอีกรอบ แล้วก็จมดิ่งอีกครั้ง แล้วจู่ๆ ไม่ทันรู้ตัว เราก็พบว่าทั้งเทคนิคของภาพยนตร์และการแสดงบนเวทีเหมือนจะหลอมรวมเป็นเนื้อเดียว ถึงตอนจบที่ตลบศิลปะทั้งสองแขนงกลับไปกลับมาอย่างพลิกแพลง เราก็เตรียมตัวจะตะโกน "บราโว" เมื่อดนตรีเร่งเร้าถึงจุดสูงสุดเป็นอันเรียบร้อยแล้ว

ไม่รู้หรอกว่าหากมีโอกาสได้ชมโอเปร่าจริงๆ เราจะชอบดื่มด่ำกับมันได้หรือเปล่า แต่สำหรับตอนนี้ ก็พอจะยอมรับมันได้อยู่บ้าง ทั้งนี้ด้วยท่านปู่เบิร์กแมนล้วนๆ และไม่ว่ายังไงก็ต้องยอมรับกับตัวเองอีกครั้ง ว่าหมอนี่ ฝีมือจริงๆ

0 comments: