Francesco Rosi | Italy | 1962
January 4, 2012
ไม่ได้เป็นเพราะเจตนาหรือการกะเกณฑ์ใดๆ เราเพียงสุ่มหยิบหนังสักเรื่องมาดู แล้วก็พบว่าหนังเรื่องนี้มีบางประเด็นที่ตรงกับโน้ตต่อ The Round-Up ที่เพิ่งดูเมื่อวาน ที่ว่ามันทำให้เรานึกถึงหนังสือเรื่อง Bandits ของ Eric Hobsbawm ขึ้นมา หนังเรื่องที่ดูวันนี้ก็ยิ่งขยายประเด็นสำหรับกลุ่มคนนอกกฎหมายของ Hobsbawm ชัดขึ้นไปอีก
Salvatore Giuliano เป็นชื่อของมาเฟีย/หัวหน้ากลุ่มกองโจรนอกกฎหมายในซิซิลี ผู้ซึ่งฆ่าคนตั้งแต่ตัวเองยังเป็นหนุ่มรุ่นกระทง กระทั่งชะตาชีวิตกำหนดให้ต้องกลายเป็นโจร ในช่วงแห่งการรณรงค์แยกตัวออกจากอิตาลี นักการเมืองแห่งซิซิลีได้ดึงเอากุยลีอาโนและลูกสมุนของเขามาเป็นกองกำลังต่อต้านรัฐบาล กระทั่งเมื่อการเมืองเริ่มมีทางออก สถานะของเหล่ากองโจรก็ยังคงถูกกำหนดให้ดำรงอยู่ในสภาพเดิม ยิ่งกว่านั้นคือความพยายามในการกำจัดกลุ่มกองโจรเหล่านี้ยิ่งถูกผลักดันเต็มอัตราศึกมากขึ้น กระทั่งในเช้าวันหนึ่งก็มีผู้พบศพกุยลีอาโนในวัยแค่ 26 ปีถูกสังหารอยู่ในซอยแคบแห่งหนึ่ง ข่าวการเสียชีวิตของเขาได้กลายเป็นข่าวโด่งดังระดับชาติ ภาพยนตร์เรื่องนี้เริ่มเรื่องที่เหตุการณ์ในเช้าวันนั้น
Francesco Rosi สร้างภาพยนตร์เรื่องนี้ขึ้นเพียงไม่กี่ปีหลังการสังหารกุยลีอาโน โดยลุยไปถ่ายไปเมืองและสถานที่จริงที่กุยลีอาโนเคยก่อวีรกรรมและกลายเป็นตำนานเกือบทั้งหมด ยิ่งกว่านั้นคือนักแสดงเกือบทั้งหมดในเรื่องก็ดึงเอาชาวบ้านร้านตลาดมาแสดง ดูเหมือนว่าจะมีเพียงแค่สองคนเท่านั้น (ผู้พิพากษาและมือขวาของกุยลีอาโน) ที่เป็นนักแสดงมืออาชีพมาก่อน
พอเห็นได้ว่าหนังเรื่องนี้อื้อฉาวเป็นที่ถกเถียงอยู่ไม่น้อย โดยเฉพาะในอิตาลี แต่เราคงไม่มีความรู้และ "อิน" มากพอที่จะไปตั้งคำถามเรื่องความถูกต้องของข้อมูลและการตีความเหตุการณ์ของ Francesco Rosi เอาเท่าที่สัมผัสมันในฐานะภาพยนตร์เรื่องหนึ่ง เราค่อนข้างชอบมันไม่น้อยเลย แรกสุดคือหนังเรื่องนี้มันผสมผสานกับหลายแนวทางเข้าไว้ด้วยกัน ทั้งอิทธิพลของ neo-realism (Rosi เริ่มต้นอาชีพโดยการเป็นผู้ช่วยในกองถ่ายภาพยนตร์ของ Lucino Visconti) ลีลาแบบหนังสารคดีในบางช่วงตอน ก่อนจะกลายเป็นหนังสืบสวนสอบสวน เหตุการณ์ยาวเหยียดของการไต่สวนคดีในศาล สู่หนังเบื้องหลังโลกของมาเฟีย และการเป็นหนังการเมือง... หลากรสครบครัน
เราไม่ได้มีข้อมูลมากพอ แต่อยากสันนิษฐานว่าผู้กำกับหนังหลายคนที่ทำหนังการเมืองอันว่าด้วยการคอรัปชั่น อิทธิพลขององค์กรทหาร-ตำรวจต่อการเมือง และกระทั่งหนังมาเฟีย (โดยเฉพาะจากซิซิลี) น่าจะได้รับอิทธิพลจากหนังเรื่องนี้ไปไม่น้อย
สิ่งหนึ่งที่โดดเด่นอย่างมากและทำให้เรายอมรับในฝีมือของ Francesco Rosi เป็นอย่างมากคือการถ่ายฉากฝูงชน สงสัยว่าเขาทำอย่างไรกันที่สามารถทำให้บรรดานักแสดงสมัครเล่นทั้งหลายปลดปล่อยอารมณ์รวมหมู่ได้ดีมากขนาดนั้น มีหลายฉากที่น่าจดจำจากหนังเรื่องนี้ แต่ถ้าว่าด้วยฉากฝูงชนแล้ว เราตะลึงมากๆ กับฉากเหล่าแม่บ้านวิ่งหวีดร้องกันมาตามท้องถนน รวมตัวเพื่อประจันหน้ากับกองทหารที่กระชากเหล่าผู้ชายออกจากบ้านและพวกเขาถูกควบคุมตัวอยู่ที่ลานของเมือง และแน่นอนว่าต้องรวมถึง ฉากความโกลาหลและการฆาตกรรมหมู่กลางท้องทุ่งที่ดำเนินการโดยกลุ่มโจรของกุยลีอาโน
ตลอดทั้งเรื่องเราแทบไม่เห็นหน้าเต็มของกุยลีอาโนเลย ซึ่งนั่นยิ่งทำให้บริบทแวดล้อม ทั้งความยากไร้ ความอยุติธรรม การฉ้อฉลคอรัปชั่น ฯลฯ ชัดเจนขึ้นเท่าทวีคูณ
Francesco Rosi | Italy | 1962 January 4, 2012 ไม่ได้เป็นเพราะเจตนาหรือการกะเกณฑ์ใดๆ เราเพียงสุ่มหยิบหนังสักเรื่องมาดู แล้วก็พบว่าหนังเร...
About author: Iris
Cress arugula peanut tigernut wattle seed kombu parsnip. Lotus root mung bean arugula tigernut horseradish endive yarrow gourd. Radicchio cress avocado garlic quandong collard greens.
Subscribe to:
Post Comments (Atom)
0 comments:
Post a Comment