Bir zamanlar Anadolu'da (original title) | Nuri Bilge Ceylan | Turkey, Bosnia and Herzegovina | 2011 January 14, 2012 คงนานแล้วแหละ...

Once Upon a Time in Anatolia

Bir zamanlar Anadolu'da (original title) | Nuri Bilge Ceylan | Turkey, Bosnia and Herzegovina | 2011


January 14, 2012

คงนานแล้วแหละที่ความอืดฉืดเนิบช้า เป็นตราสำคัญหนึ่งของหนังความเป็นหนังอาร์ต ระยะหลังๆ - ซึ่งไม่รู้ว่าทำไมเหมือนกัน - เราพบว่าตัวเองเริ่มเอียนสไตล์นี้ เหตุเพราะรู้สึก (เอาเอง) ว่าหนังหลายเรื่องเจตนาใช้สไตล์เช่นนี้ โดยเป็นการตั้งสไตล์นำเสนอเป็นตัวนำ แทนที่จะนำมาใช้เพื่อทำให้สิ่งที่อยากเอ่ยนั้นเกิดขึ้นอย่างมีประสิทธิภาพ หรือเอาเฉพาะในมุมของคนดูหนังแบบส่วนตัวล้วนๆ หนังเอื่อยเฉื่อยหลายเรื่องทำให้เรารู้สึกเบื่อแทนที่จะตรึงเราไว้กับการคิดอะไรบางอย่าง

One Upon a Time in Anatolia เอื่อยเฉื่อยมากตลอดเวลาสองชั่วโมงกว่า ไม่บ่อยครั้งที่เราดูหนังแล้วรู้สึกเหนื่อย แต่หนังเรื่องนี้ทำให้เรารู้สึกเหนื่อยสุดๆ เหนื่อยจริงไม่ใช่เหนื่อยแบบหดหู่ ทดท้อ เหนื่อยใจกับชะตากรรมของตัวละครและมนุษย์โดยรวม หรืออะไรประมาณนั้น แต่กระนั้น มันก็หาได้เป็นความรู้สึกเหนื่อยเชิงลบ ตรงกันข้ามเลย เราล้าแต่หนังเรื่องนี้คงอยู่กับเราและให้ต้องเก็บไปคิดยาวนาน ครึ่งหนึ่งคงคิดถึงเรื่องราวและโดยเฉพาะภาพจากหนัง แต่อีกครึ่งหนึ่งนั้นคือการคิดถึงตัวเอง

หนังว่าด้วยคนกลุ่มหนึ่งเดินทางออกจากเมืองไปยังทุ่งร้างกลางหุบเขากว้างไกลสุดลูกหูลูกตา เป้าหมายคือเพื่อนำตัวฆาตกรสองคน (คนหนึ่งสารภาพว่าตัวเองเป็นคนสังหารเหยื่อ) ออกไปชี้จุดฝังศพเหยื่อซึ่งก็คือเพื่อนของทั้งสอง คณะประกอบด้วยอัยการ หมอ ตำรวจ ทหาร คนงาน เกือบครึ่งเรื่องของหนังคือการที่รถสามคันตระเวนไปยังจุดต่างๆ ที่ลงเอยด้วยความล้มเหลวเพราะเป็นการชี้จุดผิด จากพลบค่ำจนถึงดึกดื่น กระทั่งทุกคนเริ่มเหนื่อยล้าและอารมณ์เริ่มปรวนแปร จึงตัดสินใจแวะค้างคืนที่หมู่บ้านอนาถาแห่งหนึ่ง

พวกเขาค้างแรมที่บ้านของหัวหน้าหมู่บ้าน ขณะร่วมดื่มชารวมกันที่ห้องหนึ่ง ไฟฟ้าเกิดดับลง หัวหน้าหมู่บ้านตะโกนเรียกให้ลูกสาวของตนนำตะเกียงเข้ามาให้แสง แสงตะเกียงลามเลียผนังห้องก่อนเด็กสาวจะค่อยๆ ปรากฏตัว เธอถือถาดถ้วยน้ำชาบรรจงแจกบรรดาผู้ชายที่อิดโรยทีละคนๆ ท่ามกลางความมืด แสงสว่างจากตะเกียงอาบใบหน้าของเด็กสาวซึ่งงดงามบริสุทธิ์ดุจนางฟ้า ชายแต่ละคนมีปฏิกิริยาแตกต่างกันไป ความลับ อดีตและความจริงอันอัดอั้นของแต่ละคนค่อยๆ เผยตัวออกมาหลังจากฉากอันแสนมหัศจรรย์นั้น

เมื่อรุ่งสาง พวกเขาเดินทางจากมา กระทั่งเจอศพที่ตามหา อีกครึ่งเรื่องหลังจากนั้นคือช่วงเวลากลางวัน กระบวนการบันทึกคดีและชันสูตรศพเดินล้อไปกับการเปิดเผยความจริงอันเจ็บปวดของตัวละครอีกบางคน กระทั่งจบเรื่องด้วยความเงียบงันและความรู้สึกอันยากจะอธิบาย เมื่อเกิดคำถามว่าความจริงควรถูกเปิดเผยหรือมิดเม้นเอาไว้เพื่อเยียวยาหัวใจอันปวดร้าวของแต่ละคน

ท่ามกลางความนิ่งช้าของเรื่องราว ฉากท้องทุ่งอันว่างเปล่าเปิดโอกาสให้เรานึกย้อนอดีตของตัวเอง สำรวจความทรงจำที่อ้างว้าง และเสียงซึ่งหลงลืมไปนาน อารมณ์ที่ถูกจุดติดในครึ่งเรื่องแรกครอบงำเมื่อก้าวสู่ครึ่งเรื่องหลัง เราแทบหลั่งน้ำตาเมื่อถึงบทสนทนาอันเจ็บปวดที่ว่าด้วยการพรากชีวิตตนเพื่อทำร้ายใครอีกคน

คงไม่ต้องตั้งคำถามอีกต่อไปว่าความนิ่งช้าเรียบเฉยนั้นซื่อสัตย์หรือดัดจริตในภาพยนตร์ แค่หนังเรื่องนี้นำเราไปสู่ภาวะนี้ เมื่อจอดำมืดและเครดิตท้ายเรื่องค่อยๆ ปรากฏ ขณะที่เสียงนั้นยังคงได้ยินต่อไป วิธีการเช่นนี้เหมือนกับที่เร็วๆ นี้ Revanche (Götz Spielmann, 2008) Poetry (Lee Chang-dong, 2010) ใช้ และก็ได้ผลเช่นเดียวกันกับเรา คือนิ่งงันอยู่จนทุกอย่างดำมือและจอสว่างพร้อมจะเล่นซ้ำอีกรอบ

0 comments: